Nubia (นูเบีย) เป็นอีกแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ช่วง 1-2 ปีมานี้ ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าชาวไทยค่อนข้างดี ด้วยดีไซน์, สเปค ประกอบราคาที่จับต้องง่าย เป็นตัวเรียกความสนใจให้กับผู้คนที่ต้องการสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในแบบไม่ซ้ำใคร โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 พ.ย.2560) Nubia ประเทศไทย ได้จัดงานเปิดตัว Nubia Z17s ซึ่งผมได้รับหมายเชิญเข้าร่วมงาน พร้อมได้สัมผัสตัวเครื่องและทดลองใช้งานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และจะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการทดลองใช้มาบอกต่อผู้อ่านทุกท่านให้ได้รับรู้กับ “รีวิว Nubia Z17s”
สเปค Nubia Z17s มีดังนี้
- หน้าจอขนาด 5.73 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2040 x 1080 พิกเซล 403ppi) อัตราส่วนหน้าจอ 17:9
- ใช้งานได้ 2 ซิมการ์ด
- ระบบปฏิบัติการ Android 7.1 Nougat ครอบทับด้วย Nubia UI 5.1
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 835 Octa-core ความเร็ว 2.45 GHz
- แรม 8GB, หน่วยความจำภายใน 128GB ไม่รองรับ microSD Card
- กล้องหลังคู่ ความละเอียด 12 (f/1.8) + 23 (f/2.0) ล้านพิกเซล, แฟลชคู่ dual LED, ระบบ Auto Focus, ถ่ายวีดีโอได้ในความละเอียดสูงสุด 4K
- กล้องหน้าคู่ ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.2
- พอร์ต USB Type-C
- สแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มด้านหลัง
- แบตเตอรี่ความจุ 3100 mAh
- ราคา 17,990 บาท
ตัวเครื่อง
ภายนอกของ Nubia Z17s ด้านหน้าและด้านหลังใช้กระจกเป็นวัสดุหลักทั้งหมด สีน้ำเงินที่เคลือบกับกระจกด้านหลังสะท้อนความเงางาม ให้ความสวย ชวนให้คนที่พบเห็นต้องเหลียวมองและอยากสัมผัส การหยิบจับไม่ลื่นอย่างที่บางคนกังวลครับ แถมขนาดตัวเครื่องที่มากับหน้าจอ 5.73 นิ้ว ออกมาในแนวสูงมากกว่าในแนวกว้างครับ ช่วยในการหยิบจับได้ถนัดมือครับ แต่ที่เป็นจุดขัดเล็ก ๆ คงเป็นเรื่องของรอยนิ้วมือที่เกิดขึ้นกับการใช้กระจกที่คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมไปถึงฝุ่นยังเกาะง่ายครับ
หน้าจอไร้กรอบ
หลายคนมักได้ยินคำโฆษณาหน้าจอสมาร์ทโฟนไร้กรอบมาค่อนข้างบ่อย แต่สำหรับใครที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสัมผัสกับแบรนด์ Nubia มาก่อน ผมอยากให้มาลองครับ เพราะหน้าจอของ Nubia Z17s ทำให้ผมรู้สึกเข้าถึงกับคำว่า “ไร้กรอบ” สังเกตจากด้านข้างของจอจะพบว่าแทบจะกลืนไปกับขอบเครื่องเลยก็ว่าได้ แถมความละเอียดการแสดงผลยังคมชัดในระดับ Full HD+
สำหรับตำแหน่งปุ่ม หรือพอร์ตต่าง ๆ ใน Nubia Z17s เลือกใช้พอร์ต USB Type-C สำหรับการชาร์จและถ่ายโอนไฟล์, มีลำโพงเดี่ยวอยู่ด้านข้างของพอร์ต, ปุ่มเพิ่ม-ลดเพียง กับปุ่มพาวเวอร์อยู่ในด้านขวาตัวเครื่อง, ด้านซ้ายมีเฉพาะช่องใส่ซิม, ปุ่มควบคุมเป็นแบบ on screen โดยจุดซ้ายทำหน้าที่ปิดแอปฯ ทั้งหมด ส่วนจุดขวาเป็นปุ่มย้อนกลับ และที่ผู้อ่านต้องรู้ คือ ไม่มีช่องต่อหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรแล้ว แต่ยังดีหน่อยที่ภายในกล่องบรรจุมีตัวแปลง USB Type-C มาให้ครับ
แรม 8GB, หน่วยความจำภายใน 128GB
สิ่งที่ Nubia Z17s ยัดมาในเครื่องอย่างแรม 8GB ที่จัดว่าให้มาเยอะสุดในบรรดาสมาร์ทโฟนในตอนนี้ก็ว่าได้ ซึ่งข้อดีของแรมระดับนี้จะคอยช่วยให้การเรียกใช้แอปฯ , ไฟล์หรือข้อมูลต่าง ๆ แม้จะมีการใช้ในปริมาณที่มากก็ยังทำได้รวดเร็ว หรือหากสลับแอปฯ ไปมา, เรียกใช้แอปฯ ใหม่ โดยที่ยังเปิดแอปฯ เดิมค้างไว้อยู่ ก็ยังช่วยให้การเข้าถึงทำได้รวดเร็วครับ
ส่วนหน่วยความจำภายใน หรือที่หลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า “รอม” ซึ่ง 128GB ที่ Nubia ให้มา ผมบอกเลยครับว่า “เพียงพอ” สำหรับการใช้เก็บข้อมูลในระยะยาว รวมไปถึงรองรับขนาดของแอปฯ ยอดนิยมอย่าง Facebook หรือ LINE ได้อย่างสบาย ๆ แถมยังเหมาะกับคนทั่วไปที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่าพื้นที่เก็บข้อมูลจะเต็มง่าย ๆ ลดการพึ่งพา microSD Card ไปได้พอสมควรครับ
กล้องถ่ายรูป
เริ่มที่กล้องหลังคู่ มากับความละเอียด 12 ล้านพิกเซล (ค่ารูรับแสง f/1.8) + 23 ล้านพิกเซล (ค่ารูรับแสง f/2.0), แฟลชคู่ dual LED, ระบบ Auto Focus ซึ่ง UI ของกล้องไม่ซับซ้อนครับ เมื่อเปิดกล้องขึ้นเราสามารถเลื่อนบนหน้าจอเพื่อใช้งานโหมดอื่น ๆ ได้จากหน้าแรก เช่น Video, Portrait, Pro และ Camera Family (หน้ารวมโหมดถ่ายภาพประเภทต่าง ๆ) ขณะที่แถบด้านบนของ UI กล้องจะมีเมนูอย่าง HDR, แฟลช, ตั้งเวลา, ฟิลเตอร์ รวมถึงเมนูการตั้งค่าเพิ่มเติม โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับอัตราส่วนของภาพนิ่งได้ มีให้เลือกระหว่าง 16:9, 4:3 และ 1:1 และยังสามารถเข้าไปตั้งค่าเพิ่มเติมได้อีกในเมนู More settings เพื่อใส่ลายน้ำ, เปิดใช้งานการปรับค่ารูรับแสงได้เองเมื่อใช้โหมด Portrait และอื่น ๆ ครับ
UI กล้องถ่ายภาพและวีดีโอ
ส่วนการทดสอบถ่ายภาพนิ่งผมลองใช้โหมดถ่ายภาพปกติ, และ Portrait โดยผมเลือกปรับอัตราส่วนเป็นแบบ 16:9 ครับ
ตัวอย่างภาพ
โหมดปกติ
สีของภาพในโหมดปกติให้ความเป็นธรรมชาติครับ โดยเฉพาะเมื่อถ่ายในสภาพแสงปกติ มีความรวดเร็วในการจับภาพเคลื่อนไหว การถ่ายภาพในช่วงแสงน้อยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้ครับ
Portrait
การทดลองถ่ายภาพด้วยโหมด Portrait ผมใช้ในสภาพแสงน้อยครับ เพราะอยากรู้ว่ากล้องของ Nubia Z17s จะทำได้ดีแค่ไหน ซึ่งภาพที่ผู้อ่านทุกท่านเห็นจะพบว่าตัวบุคคลมีลักษณะลอยตัวจากฉากหลังค่อนข้างชัด ส่วนความเบลอของฉากหลังหากมองปกติก็แทบไม่เห็นการกินพื้นที่เข้ามาที่ตัวบุคคลเลย เรียกได้ว่าการถ่ายภาพด้วยโหมด Portrait ทำได้ค่อนข้างเนียนครับ
นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถตั้งค่าเพื่อเปิดใช้การปรับค่ารูรับแสงเอง (Adjust aperture ภายในเมนู More settings) หรือว่ากันภาษาชาวบ้านเป็นการปรับหน้าชัดหลังเบลอ สามารถปรับทั้งได้ก่อนและหลังถ่ายภาพครับ
กล้องหน้าคู่ มากับความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.2 ซึ่งโหมดต่าง ๆ แถบลอกกล้องหลังมาแบบเป๊ะ ๆ
ซอฟต์แวร์
Nubia Z17s ใช้ระบบปฏิบัติการ Android 7.1 Nougat ครอบทับด้วย Nubia UI 5.1 ซึ่งต้องลุ้นว่าจะมีอัพเดทเป็น Android 8.0 Oreo หรือไม่ ? โดย UI ที่กำหนดมา คงทำให้ผู้ที่ไม่เคยใช้สมาร์ทโฟน Nubia มาก่อน ต้องปรับตัวกันเล็กน้อย เช่น การเข้าถึง Control Center จะใช้การเลื่อนจากด้านล่างหน้าจอขึ้นมา, การเลื่อนจากด้านบนหน้าจอลงมาจะเป็นการเรียกดูการแจ้งเตือนต่าง ๆ
อีกส่วนที่ถือว่าเป็น signature เป็นการใช้ประโยชน์จากขอบหน้าจอ เพียงเข้าไปในเมนูการตั้งค่า > เลือกเมนูเลื่อนไปยังขอบ (Edge gestures) ซึ่งผู้ใช้สามารเลือกเปิดใช้ฟีเจอร์ที่ Nubia ให้มาได้ เช่น
– การรูดขึ้น / ลงที่ขอบหน้าจอด้านขวา : สลับไปยังแอปฯ ต่าง ๆ ที่ยังเปิดค้างไว้ หรือจะเลือกให้เป็นการเรียกดูการแจ้งเตือน และการเรียกใช้ Control Center ก็ได้
– การรูดขึ้น / ลงที่ขอบหน้าจอด้านขวาซ้ำ ๆ : ปิดแอปฯ ทั้งหมดที่เปิดค้างไว้
– การรูดขึ้น / ลงที่ขอบหน้าจอทั้งสอบข้าง :เพิ่ม-ลงความสว่างของหน้าจอ
– ดับคลิกคลิกที่ขอบหน้าจอด้านขวา : จะใช้เสมือนเป็นปุ่มย้อนกลับ หรือเรียกใช้ปุ่มโฮม, ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่ม recent app ก็ได้
นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถไปที่เมนูแบ่งหน้าจอ (Screen split) เพื่อเลือกเปิดใช้งานสำหรับผู้อ่านที่มักใช้งานแบบแบ่งครึ่งหน้าจอ โดยวิธีใช้งานเพียงแค่เลื่อนจากด้านล่างหน้าจอขึ้นมา สามารถแบ่งครึ่งหน้าจอได้แม้ในเวลาเล่นเกม
รีวิว Nubia Z17s ครั้งนี้ กับการใช้ฟีเจอร์ที่เป็น signature ของทาง Nubia ผมมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากหน้าจอให้มากขึ้น แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะการเปิดใช้เมนูเหล่านี้ บางครั้งมือของเราอาจเผลอไปโดนจนเปิด-ปิดแอปฯ ได้โดยที่เราไม่ตั้งใจ และอย่างฟีเจอร์แบ่งหน้าจอมีลักษณะการเรียกใช้ที่ทับซ้อนกับการเรียก Control Center หากไม่ใช้งานก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเปิดใช้ก็คงทำให้ผู้ใช้บางท่านสับสนหรืองงได้ครับ
สุดท้ายกับการเล่นเกม ผมทดลองด้วยเกม ROV ครับ เปิดใช้ประสิทธิภาพในเกมเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นค่า FPS, การแสดงภาพแบบ HD และเมนู Game Boost จากทาง Nubia ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเล่นเกมได้อีกทางหนึ่ง จากการเล่นพบว่าค่า FPS บางครั้งรันไปแตะถึงระดับ 60 ครับ แต่เท่าที่สังเกตค่า FPS จะรันอยู่ราว ๆ 40 กว่า – 50 กว่า เรื่องเครื่องร้อนนั่นผมสัมผัสได้ว่าเครื่องจะอุ่นขึ้นมาเล็กน้อย แต่เมื่อเลิกเล่นก็จะกลับสู่อุณหภูมิปกติในเวลาไม่นาน ส่วนแบตเตอรี่นั้นการรีดประสิทธิภาพให้ออกมาสูงสุดย่อมทำให้แบตเตอรี่ลดลงเร็วกว่าปกติครับ
รีวิว Nubia Z17s กับบทสรุป
ผมเชื่อว่าแค่ผู้อ่านเห็นดีไซน์ก็คงเย้ายวนให้อยากลองจับได้ไม่ยากครับ ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นภายใต้สเปคที่จัดเต็มเรียกได้ว่า “มากพอ” ที่จะตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้แบบสบาย ๆ ส่วนเรื่องของซอฟต์แวร์ก็ต้องลุ้นว่าทาง Nubia จะให้อัพเดทเป็น Android 8.0 Oreo หรือไม่ ? ถ้าได้ … แล้วต้องรออีกนานแค่ไหน ? ส่วนฟีเจอร์ที่ใช้ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ขอบหน้าจอ อันนี้สุดแท้แต่ความชอบของแต่ละคนครับ