เอ็นทีที (NTT Ltd.) บริษัทผู้ให้บริการและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีชั้นนำ และซิสโก้ (Cisco) บริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลก ประกาศความร่วมมือพัฒนาและปรับใช้โซลูชันร่วมกัน เพื่อสนับสนุนองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากกลุ่มบริการ Edge as a Service ของ NTT และความสามารถด้าน IoT ของ Cisco จะทำให้โซลูชันที่พัฒนาโดยทั้งสองบริษัทมีความพร้อมนำเสนอข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ ทั้งการรักษาความปลอดภัยที่เข้มข้นยิ่งขึ้น การตัดสินใจที่พัฒนาขึ้น และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง ผ่านการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ การติดตามทรัพย์สิน และความสามารถในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้สองบริษัทจะนำเสนอโซลูชั่นที่ผสมผสานความเชี่ยวชาญด้าน Managed Services, การวิเคราะห์เรียลไทม์, ความสามารถด้านระบบอัตโนมัติที่ Edge และการจัดการสภาพแวดล้อมด้าน IT ที่ซับซ้อนของ NTT เข้ากับความสามารถด้าน IoT ซึ่งรวมไปถึงระบบ Low Power Wide Area Networking (LoRaWAN) ของ Cisco
ปัจจุบัน NTT มุ่งขยายธุรกิจที่ปรึกษาและบริการด้าน IoT ของตัวเองอย่างจริงจัง โดยรวบรวมผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1,000 รายและกรณีการใช้งานกว่า 100 ยูสเคส เช่น การใช้งานรถยนต์ที่เชื่อมต่อกับระบบออนไลน์ (connected cars) การจัดการกองฟลีทหรือยานพาหนะเพื่อการขนส่ง (fleet management) การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (predictive maintenance) เมืองอัจฉริยะ (smart cities) ระบบจำลองในรูปแบบดิจิทัลทวิน (digital twin) โรงงานอัจฉริยะ (connected factories) สาธารณูปโภค และอื่นๆ โดย NTT ได้ฝึกอบรมทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย Cisco แล้วมากกว่า 500 คน เพื่อเร่งการนำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ออกสู่ตลาดและพัฒนาความสามารถที่หลากหลายของทั้งสองบริษัท
“เรากำลังเร่งขยายธุรกิจ IoT ของเราเพื่อนำเสนอกลุ่มบริการที่สามารถทำซ้ำได้และสามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของลูกค้า เราจึงมีจุดยืนที่โดดเด่นด้านความสามารถในการตอบสนองความต้องการโซลูชันหลายประเภท” คุณเดวิน หยาง (Devin Yaung) รองประธานอาวุโส หน่วยธุรกิจกลุ่มบริการและสินค้า IoT บริษัท NTT กล่าว
“เราตื่นเต้นที่ได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการในรูปแบบ IOT-as-a-Service เพื่อให้องค์กรของกลุ่มลูกค้าในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก ได้รับประโยชน์ทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว” คุณซามูเอล ปาสกิเยร์ (Samuel Pasquier) รองประธานฝ่ายการจัดการผลิตภัณฑ์ เครือข่าย IoT อุตสาหกรรมของ Cisco กล่าว
พลิกโฉมการจัดการน้ำ ด้วยโซลูชั่นอัจฉริยะ
ทั้ง NTT และ Cisco มุ่งพัฒนาโซลูชันและข้อเสนอสู่ตลาดโดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมหลากหลาย เช่น ภาคการผลิต การขนส่ง และเฮลธ์แคร์ ซึ่งล้วนมีความต้องการใช้งานโซลูชัน Edge Computing และ IoT มากขึ้น โดยทั้งสองบริษัทได้ดำเนินการปรับใช้บริการขั้นสูงนี้กับลูกค้าแล้วจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ Compagnie Intercommunale Liégeoise des Eaux (CILE) บริษัทการประปาผู้จำหน่ายน้ำสาธารณะที่ตั้งอยู่ในเบลเยียม
NTT ได้ร่วมมือกับ Cisco ติดตั้งเซ็นเซอร์ LoRaWAN นับพันตัวทั่วโครงสร้างพื้นฐานของ CILE เพื่อให้สามารถสังเกตการณ์การทำงานของระบบได้จากระยะไกล เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำ การใช้น้ำ การสูบจ่าย และการบำรุงรักษาระบบ โซลูชันนี้ยังรวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครือข่ายการสูบจ่ายน้ำอัจฉริยะ ระบบอ่านค่าระยะไกลผ่านมิเตอร์อัจฉริยะ ระบบสมาร์ทกริดสำหรับการจัดการจากระยะไกล อุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อออนไลน์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ส่งมอบในรูปแบบบริการที่มีการจัดการหรือ managed service โดยมีการจัดเตรียมเครือข่ายโครงสร้างเพื่อสนับสนุนยูสเคสกรณีการใช้งานเพื่อความยั่งยืนอื่นๆ เช่น การจัดการขยะ การจัดการที่จอดรถ การจัดการคุณภาพน้ำ และการควบคุมไฟถนน
“ที่ CILE เราให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับ 24 เมืองในเบลเยียม ซึ่งหมายความว่าประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือเป็นกุญแจสำคัญ” คุณวิลเลียม เดอ แองเจลิส (William de Angelis) ประธานฝ่ายเทคโนโลยีและข้อมูล (CIO และ CDO) ของ CILE กล่าว “ด้วยการสนับสนุนของ NTT และ Cisco เราจึงมีข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับโครงสร้างเครือข่ายการจ่ายน้ำของเรา รวมถึงการตรวจจับจุดน้ำรั่วไหลที่รวดเร็วขึ้น ช่วยให้เราตอบสนองต่อปัญหาได้ทันที และขยายเครือข่ายไปยังยูสเคสกรณีการใช้งานเพื่อความยั่งยืนอื่น”
NTT ขยายธุรกิจที่ปรึกษาและบริการ IOT
เพื่อให้ความสำคัญและขยายบริการ IoT สำหรับลูกค้าและพันธมิตร NTT ได้เปิดหน่วยธุรกิจเฉพาะสำหรับบริการ IoT ขึ้นโดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเชิงลึกจากทั่วโลก ทั้งทีมที่ปรึกษา วิศวกร สถาปนิกองค์กร และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนกว่า 1,000 คน จะร่วมสร้าง ปรับใช้ และจัดการยูสเคสกรณีการใช้งานมากกว่า 100 ยูสเคสในด้านต่างๆ เช่น รถยนต์ที่เชื่อมต่อออนไลน์ (connected car) การจัดการยานพาหนะหรือกองฟลีท (fleet management) การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (predictive maintenance) เมืองอัจฉริยะ (smart cities) การสร้างแบบจำลองเสมือนจริงบนโลกดิจิทัล (digital twins) โรงงานอัจฉริยะ และอื่นๆ
“เรากำลังเพิ่มความสามารถด้าน IoT ของ NTT เป็นเท่าตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า” คุณหยาง กล่าวต่อ “เรากำลังมุ่งดึงชุดความรู้และทักษะที่สะสมไว้ออกมา และนำพลังของ NTT มาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้า และตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการติดตั้งหรือดัดแปลงองค์กรด้วยการเชื่อมต่อและทัศนวิสัยที่จำเป็น ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้ในที่สุด”
ทั้งนี้ ตลาด IoT ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโต 19 เปอร์เซ็นต์ในปี 2566 โดยมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 483 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570