สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน SPACE-F batch 1 Incubator Demo Day เพื่อนำเสนอผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะในรุ่นที่ 1 ภายใต้โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPACE-F โดยมีสตาร์ทอัพที่ร่วมโชว์ผลงานทั้งสิ้น 7 ทีม ได้แก่ Anrich 3D 3D-Printing สำหรับการออกแบบโภชนการอาหารรายบุคคล Let’s Plant Meat เนื้อจากพืชที่เหมาะกับอาหารเอเชีย Artificial Anything (EIS) เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณภาพในการผลิตเครื่องดื่ม Qualifresh เซ็นเซอร์ควบคุมอุณหภูมิการจัดเก็บและขนส่งสินค้าด้านอาหาร Advanced Green Farm เทคโนโลยีการเพาะปลูกผำ/ไข่น้ำ พืชตระกูลแหนโปรตีนสูง More Meat เนื้อจากพืชที่ส่งตรงถึงร้านอาหารและผู้บริโภค และ Sesamilk นมทางเลือกผลิตจากงา
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่าNIA เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้างโอกาสให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” โดยโครงการ SPACE-F ประกอบด้วยโครงการบ่มเพาะ (Incubator Program) และโครงการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator Program) ที่จะร่วมผลักดันและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงให้สามารถสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะทำให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมอาหารทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ซึ่งจะเน้นการพัฒนานวัตกรรมอาหารโลกใน 9 เทรนด์หลัก ได้แก่ การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต การคิดค้นส่วนผสมและสูตรอาหารใหม่
การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ซึ่งโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 ที่เพิ่งจบไปนั้นช่วยสร้างพัฒนาการให้แก่สตาร์ทอัพอย่างมาก จากที่มีเพียงแนวคิดในช่วงแรก ขณะนี้หลายผลิตภัณฑ์ได้มีการวางขายตามซุปเปอร์มาร์เกตชั้นนำ และช่องทางออนไลน์ ได้แก่ Anrich 3D ระบบ 3D-Printing สำหรับการออกแบบโภชนการอาหารรายบุคคล Let’s Plant Meat เนื้อจากพืชที่เหมาะกับอาหารเอเชีย Artificial Anything (EIS) เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณภาพในการผลิตเครื่องดื่ม Qualifresh เซ็นเซอร์ควบคุมอุณหภูมิการจัดเก็บและขนส่งสินค้าด้านอาหาร Advanced Green Farm เทคโนโลยีการเพาะปลูกผำ/ไข่น้ำ พืชตระกูลแหนโปรตีนสูง More Meat เนื้อจากพืชที่ส่งตรงถึงร้านอาหารและผู้บริโภค และ Sesamilk นมทางเลือกผลิตจากงา รวมไปถึงยังมีการทำการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ทั้งนี้ หลังจบโครงการ NIA ยังคงมีกลไลที่ช่วยสนับสนุนและต่อยอดสตาร์ทอัพในโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน การสร้างเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันการเงิน องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการสนับสนุนช่องทางตลาด การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตลาดผ่านงาน Startup Thailand , Innovation Thailand Expo เป็นต้น
ด้าน นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการ SPACE-F ก่อตั้งขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของผู้ก่อตั้ง ทั้ง NIA มหาวิทยาลัยมหิดล และไทยยูเนี่ยน ด้วยความหวังว่าจะมีส่วนสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมอาหารไทยยูเนี่ยน เชื่ออย่างยิ่งว่านวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารในวงกว้าง เพราะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ที่ไทยยูเนี่ยน เรามีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กว่าร้อยคนทำงานที่ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนเพื่อพัฒาและนำเทคโนโลยีมาต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open Innovation โดยมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่าง ๆ และสตาร์ทอัพที่มีแนวคิดและนวัตกรรมที่น่าสนใจ โครงการ SPACE-F นี้ได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยยูเนี่ยนในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่จะพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ความสำเร็จของโครงการ SPACE-F ในปีแรกนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปิดโอกาสและช่วยผลักดันให้นวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเหล่านี้ได้พัฒนาและก้าวไปสู่การพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อไป”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ขณะนี้โครงการ SPACE-F ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 โดยมี 3 พันธมิตรใหม่ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เสริมทัพเข้ามาสนับสนุน ทำให้โครงการ SPACE-F ถือเป็นการประสานพลังขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาชั้นนำของประเทศ ผลสัมฤทธิ์ของทีม startup ที่ท่านเห็นในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบ่มเพาะจากการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ในระดับ Incubator รุ่นแรกของปีที่แล้ว ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง และพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการที่สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำเศรษฐกิจ ซึ่งเราหวังว่าจะมีส่วนช่วยนำประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมอาหารในระดับโลก มหาวิทยาลัยมหิดลเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า องค์กรพันธมิตรทั้งรุ่นก่อตั้งและที่เสริมทัพเข้ามาเพิ่มของ SPACE-F จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยกันทำให้ประเทศไทย มุ่งไปสู่เป้าหมายของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคด้วยนวัตกรรม บนรากฐานของความร่ำรวยทางทรัพยากร และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของนวัตกรรมด้านอาหารในระดับโลก”
นายฌอง เลอเบรอตง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเบฟรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนร่วม ในการสนับสนุน โครงการ “สเปซ-เอฟ” โดยได้ผสานความร่วมมือกับองค์กรระดับประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชน ช่วยกันผลักดันผู้ประกอบการเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่มในการสร้างธุรกิจให้เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และอาหารอย่างเพียงพอ ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญมากความสามารถ ที่สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านวัตกรรมอาหารรของภูมิภาค โดยไทยเบฟหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 2 นี้ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่สำหรับทุก ๆ คนในโลกใบนี้
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand