ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี เดินหน้ามอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบสายรัดข้อมือ NFC ให้กรมควบคุมโรค นำร่องเพื่อใช้ติดตามผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือผู้กักตัวในระหว่าง Self-Quarantine มั่นใจเทคโนโลยีไมโครชิพและการสื่อสารไร้สายผ่านคลื่นวิทยุในระยะประชิด (Near Field Communication) จะสามารถช่วยภาครัฐและบุคลากรทางการแพทย์จัดเก็บข้อมูล และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ “SICT” กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสายรัดข้อมือ NFC (Patient Wristband) จำนวน 300 ชิ้น เพื่อใช้ในการทดสอบและพัฒนาสำหรับติดตามผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือผู้กักตัวในระหว่างกระบวนการกักกันตนเอง (Self-Quarantine) เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ เพื่อช่วยลดภาระและเวลาของบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ และสมาชิกครอบครัวที่ต้องเฝ้าดูแลผู้ป่วย และผู้กักตัวในระหว่าง Self-Quarantine
นอกจากนี้ SICT ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมควบคุมโรค ในการพัฒนาอุปกรณ์และระบบ Application ให้เชื่อมโยงกับสายรัดข้อมือ NFC เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และป้องกันไม่ให้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่หรือเกิดการระบาดภายในประเทศได้อีก
“SICT มีความยินดีที่จะสนับสนุนกรมควบคุมโรค โดยส่งมอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบสายรัดข้อมือ NFC ร่วมกับการพัฒนา และทดสอบระบบแอปพลิเคชัน DDC Care เป็นโครงการนำร่องในการส่งเสริมความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการควบคุมโรค และเป็นการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนให้ดีที่สุด” ดร.บดินทร์ กล่าว
เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายผ่านคลื่นวิทยุในระยะประชิด (Near Field Communication) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นใหม่ที่ SICT กำลังเดินหน้าวิจัยและพัฒนาต่อยอดจากนวัตกรรมไมโครชิพ RFID เพื่อรองรับธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Smart Healthcare) ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นอุปกรณ์ติดตัวผู้ป่วยเพื่อเก็บข้อมูลการรักษาและติดตามตำแหน่งของผู้ป่วย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลและการให้บริการที่ดีขึ้น ทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัยสูง สะดวกสบายและมั่นใจได้ถึงคุณภาพ อาทิ สายรัดข้อมือผู้ป่วยที่ใช้เทคโนโลยี NFC นี้ จะช่วยให้สามารถยืนยันสถานะ การรักษาและติดตามขั้นตอนการตรวจรักษา ของผู้ป่วยโควิด-19 และผู้กักตัว Self-Quarantine ตั้งแต่เข้ามาลงทะเบียนจนกระทั่งเดินทางกลับบ้าน โดยเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลและกรมควบคุมโรค เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ขั้นตอนการรักษา รวมถึงปรับปรุงการบริการและการอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้อีกด้วย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมฯ จะทำการทดสอบการใช้งานสายรัดข้อมือ NFC ดังกล่าวกับบุคลากรของกรมควบคุมโรค และจะมีการประมวลผลการทดสอบร่วมกับทางบริษัทฯ และ สวทช. ในการพัฒนานวัตกรรมสายรัดข้อมือให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะส่งมอบสายรัดข้อมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ทั้ง 12 แห่ง เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ต่อไป