พูดถึงพรินเตอร์ ถ้าเป็นผู้ใช้งานตามบ้านที่ไม่ได้มีเด็กอยู่ภายในบ้านแล้ว คงกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นนัก แต่แม้ว่าความต้องการในการใช้งานจะลดลงมันก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานในออฟฟิศ หรือในบ้านที่มีเด็กวัยเรียนที่จะต้องพรินต์รายงานส่งคุณครูเป็นประจำ
เมื่อมองย้อนไป และมองกลับมาที่ปัจจุบัน จะเห็นพัฒนาการของพรินเตอร์ที่เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งถึงลักษณะการใช้งานที่เดิมทีมีคอมพิวเตอร์ในบ้านเครื่องเดียวก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อมีคอมพิวเตอร์ในบ้านมากขึ้น หรือมีความหลากหลายของอุปกรณ์มากขึ้นทั้งโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน หรือแม้แต่กล้องดิจิทัลที่สามารถสิ่งพรินต์ภาพได้เหมือนกัน ความต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านี้จึงมีเพิ่มมากขึ้น
Network Printer แชร์ได้ไม่ง้อพีซี
แต่เดิม หากใครเคยใช้งานพรินเตอร์ร่วมกับคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องน่าจะพอรู้จักสิ่งที่เรียกว่าการแชร์พรินเตอร์ หรือการนำเอาคอมพิวเตอร์มาต่อกับพีซีที่เชื่อมต่ออยู่ในวงแลน แล้วสั่งแชร์พรินเตอร์ที่คล้ายๆ กับการแชร์ไฟล์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทุกตัวสามารถสั่งพรินต์มาที่เครื่องพรินเตอร์ได้โดยไม่ต้องเซฟงานมาพรินต์ที่เครื่องหลัก หรือไม่ต้องถอดสายพรินเตอร์ย้ายไปย้ายมาให้วุ่นวายนั่นเอง
แต่วิธีการนี้มีเงื่อนไขคือจะต้องเปิดเครื่องพีซีที่เชื่อมต่อกับพรินเตอร์เอาไว้ตอลดเวลาที่มีคนใช้งานพรินเตอร์ เพราะมันเป็นตัวกลางที่คอยรับงานจากเครื่องอื่นๆ และสั่งให้พรินเตอร์พรินต์งานออกมาอีกที หรือเรียกว่า Print Server นั่นเอง
ด้วยความยุ่งยากและข้อจำกัดที่ต้องเปิดคอมพ์ทิ้งไว้ 1 ตัว ทำให้ผู้ผลิตพรินเตอร์ออกแบบให้พรินเตอร์สามารถเชื่อมต่อเข้า LAN ได้โดยตรงไม่ว่าจะผ่านทางสาย LAN หรือผ่านทาง WiFi ก็ตาม เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องสามารถสั่งพรินต์หรือใช้งานพรินเตอร์ได้โดยตรง
การติดตั้งไม่ยากอย่างที่คิด
สำหรับฟังก์ชันการรองรับเน็ตเวิร์กในพรินเตอร์นั้นเริ่มมีการรองรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นรุ่นที่ราคาถูกก็ตาม ดังนั้นพรินเตอร์ตามบ้านหลายๆ รุ่นก็มีฟังก์ชันเหล่านี้มาให้แล้วในราคาไม่เกิน 5 พันบาทก็มี
สำหรับการตั้งค่าเชื่อมต่อจะมีอยู่ 2 แบบใหญ่ คือแบบ LAN และ WiFi เรามาดูไปทีละส่วนกันเลย
– การเชื่อมต่อโดยใช้สาย LAN
สำหรับสาย LAN นั้นไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแค่เสียบสาย LAN จากพรินเตอร์ที่มีช่อง LAN (ถ้าไม่มีก็แปลว่าไม่รองรับ) และอย่าสับสนกับช่องโทรศัพท์ในรุ่นมัลติฟังก์ชันที่มีแฟกซ์นะครับ หัวมันไม่เท่ากัน เสียบกันไม่ได้
หลังจากเสียสายเรียบร้อย เปิดเครื่องทุกอย่างให้พร้อม พรินเตอร์จะพร้อมใช้งานและจะรับค่า IP Address จากเราเตอร์มาพร้อมเลย ซึ่งถ้ามีการตั้งค่าแบบ Fixed IP ไว้ก็จะเกิดปัญหาในส่วนนี้ได้ แต่ค่าที่ตั้งจากโรงงานจะไม่ได้ Fixed IP เอาไว้อยู่แล้ว
หลังจากเชื่อมต่อเข้ากับระบบ LAN เรียบร้อยแล้ว ก็นำแผ่นไดรเวอร์ไปติดตั้งในคอมพิวเตอร์ทุกๆ เครื่องที่ต้องการใช้พรินเตอร์ ซึ่งไดรเวอร์นี้จะติดตั้งแบบอัตโนมัติ โดยจะค้นหาในระบบ LAN ให้ด้วยว่ามีพรินเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่ทั้งหมดกี่ตัว (ค้นหาเฉพาะยี่ห้อหรือรุ่นที่ไดรเวอร์ถูกออกแบบมา) เพื่อให้เราเลือกติดตั้งได้ถูกตัว ในกรณีที่มีพรินเตอร์หลายตัวในเน็ตเวิร์ก
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ขั้นตอนทุกอย่างจะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ติดตั้งพร้อมใช้งานทุกฟังก์ชันสำหรับเครื่องมัลติฟังก์ชัน ทั้งพรินต์ และสแกน
– การเชื่อมต่อผ่าน WiFi
สำหรับ WiFi นั้นจะมีแบ่งออกเป็น 2 รุ่นอีกเช่นกัน คือเป็น “รุก” หรือเป็น “รับ” ซึ่งส่วนใหญ่มันจะเป็น “รุก” เพราะเชื่อมต่อง่ายกว่าครับ
การเป็น “รุก” ก็คือพรินเตอร์เป็นตัวเชื่อมต่อไปยังเราเตอร์ ซึ่งก็เหมือนกับเราใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเชื่อมต่อไปที่เราเตอร์นั่นแหละ เพียงแค่เลือกสแกน WiFi ให้เจอ หรือกรอก SSID เองก็ได้ แล้วใส่ Network Key ลงไป ก็เป็นอันเสร็จ เชื่อมต่อติด
ส่วนการเป็น “รับ” นั้นตัวพรินเตอร์เองจะทำตัวเองเป็น Hotspot กระจายสัญญาณให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อเข้ามาที่ตัวมันแทน แต่วิธีการนี้ไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่แล้ว เพราะใช้งานยุ่งยากกว่า แต่เหมาะสำหรับเวลาไปทำงานในจุดที่ไม่มีเราเตอร์ ก็สามารถใช้ฟังก์ชันนี้ช่วยได้
ส่วนการติดตั้งไดรเวอร์นั้นก็จะคล้ายๆ กับการเชื่อมต่อผ่านสาย LAN คือไดรเวอร์จะทำการค้นหาและติดตั้งให้เองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้ไปตั้งค่าอะไรผิดแปลกไปจากที่โรงงานกำหนดมานะครับ
ถ้าพรินเตอร์ไม่รองรับ Network ล่ะ?
สำหรับคนที่เน้นงบประมาณจำกัดจริงๆ ก็ต้องเข้าใจ เพราะราคาประมาณ 5 พันบาท อาจจะเลือกไปเอาฟังก์ชันอื่นๆ เช่น Ink Tank ที่ช่วยประหยัดระยะยาวมากกว่าฟังก์ชันรองรับเน็ตเวิร์ก ดังนั้นถ้าพรินเตอร์ไม่รองรับเน็ตเวิร์กเราสามารถทำยังไงได้บ้าง
วิธีการแรกคลาสสิกที่สุด คือใช้คอมพิวเตอร์ธรรมดานี่แหละ ทำหน้าที่เป็น Print Server เหมือนกับแต่ก่อนที่เราทำกัน ติดตั้งไดรเวอร์ให้เครื่องหลักพรินต์ได้ แล้วจึงแชร์ไปยังคอมพิวเตอร์อื่นๆ ในวงแลน
วิธีการที่สอง คือหาอุปกรณ์ Print Server มาใช้งาน สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก ราคาแตกต่างกันไปตามฟังก์ชัน แต่ส่วนมากพันกว่าบาท โดยมันจะทำหน้าที่แทนคอมพิวเตอร์ที่คอยแชร์พรินเตอร์นั่นเอง
วิธีการสุดท้าย คล้ายๆ กับวิธีการที่ 2 แต่เป็นการซื้อเราเตอร์ที่มีพอร์ต USB และรองรับการแชร์พรินเตอร์ได้ ซึ่งมันจะเป็นเราเตอร์รุ่นแพงๆ หน่อย ทำงานเหมือน Print Server นั่นแหละ แม้ว่าราคาจะสูงกว่า แต่คุณก็จะได้ประสิทธิภาพส่วนอื่นๆ เติมเข้ามาด้วยอยู่ดี
ทั้ง 3 วิธีที่บอกมาต้องดูให้แน่ใจว่าพรินเตอร์ที่เราใช้งานรองรับกับอุปกรณ์ Print Server ได้ โดยเฉพาะกับวิธีที่ 2 และ 3 นะครับ และส่วนใหญ่จะใช้ได้แค่ฟังก์ชันพรินต์อย่างเดียวด้วย