เปิดโลก IoT รวมเซนเซอร์อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย

ทุกวันนี้ IoT หรือ Internet of Things เข้ามาอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ Smart Home หรือบ้านอัจฉริยะที่มีเชื่อมต่อด้วยอุปกรณ์เซนเซอร์มากมายที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่จริงๆ แล้ว IoT กำลังถูกพัฒนาเพื่อใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการแพทย์ การเกษตรไปจนถึงอุตสาหกรรม

Techhub พาไปอัปเดตเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะ ผลงานของคนไทย ที่รวมไว้ในงาน NECTEC-ACE 2024 ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดขึ้นรับกับเทรนด์ The Next Era or Thai Intelligent Sensors สนับสนุนการผลักดันนวัตกรรม IoT และการเปลี่ยนผ่านสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ตั้งแต่รากฐานของงานวิจัย ไปสู่การประยุกต์ในเชิงการแพทย์ เกษตรและอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับ 3 เทคโนโลยีหลัก ที่เป็นเป้าหมายในอนาคต อย่าง

  1. Intelligent Sensors
  2. Networking & Communication
  3. AI & Big Data

จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปดูกันเลย

 

AIS Business จำลองการใช้งาน Solution IoT หลากหลายรูปแบบ ทั้งสมาร์ทฟาร์มใน Indoor และ Outdoor มากับ Embedded Sim หรือ ซิมที่ปลูกฝังลงในตัวอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความทนทาน และพร้อมใช้ เป็นตัวรับส่งสัญญาณ ที่ธุรกิจสามารถเลือกใช้คู่กับโซลูชั่นที่มีได้อย่างไร้กังวล

ระบบหลีกเลี่ยงการชนของรถไฟ ด้วยเทคโนโลยีเรดาร์ย่านความถี่ X-Band และการประมวลผลภาพจากระยะไกล ช่วยค้นหาสิ่งกีดขวาง และแจ้งเตือนไปยังพนักงานขับรถไฟให้รู้ล่วงหน้าได้ เป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่ใช้เซนเซอร์ เข้ามาช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบขนส่งสาธารณะ

ผลงานของหน่วยงานให้ทุน บพข. บริษัทเอกชน และการรถไฟแห่งประเทศไทย

HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยอาศัยความสามารถเทคโนโลยีเซนเซอร์และอุปกรณ์ IoT

ผลงานการพัฒนาพื้นผิวรูปแบบใหม่ Metaserfaces ให้สามารถใช้งานได้ตามโจทย์ที่ต้องการ เช่น วัสดุที่มีขนาดเล็กลง สามารถเลือกความยาวของคลื่นสัญญาณเพื่อประยุกต์ใช้งานได้ ตัวอย่างเช่น วัสดุที่ช่วยลดความเลนส์กล้องสมาร์ทโฟนได้

ผลงานวิจัยของทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์

ระบบถ่ายภาพรังสี X ด้วยกล้อง DSLR ที่มีความละเอียดมากถึง 80 ไมครอน ใช้ในการวิเคราะห์พืชผลการการเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงแผงวงจร ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับการวิเคราะห์ภาพถ่ายด้วย AI เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่มากขึ้นในอนาคต

TaraAnt อุปกรณ์รับส่งสัญญาณเทระเฮิร์ต ใช้วิเคราะห์คุณสมบัติของอาหารและยา

TaraBoot แผ่นบูสต์สัญญาณ 5G/6G ออกแบบขึ้นมารองรับความต้องการใช้งาน Wifi Booster ในอนาคต

แขนกล ช่วยตรวจสอบคุณภาพไข่ในฟาร์ม สามารถตรวจสอบปัญหา จุดที่เกิดแรงกระแทก อุณหภูมิ ความชื้น สามารถประยุกต์ใช้กับกระบวนการขนส่ง ไปจนถึงร้านค้าปลีกได้ โดยใช้แพลตฟอร์มเข้ามาช่วย

ผลงานของ Betagro

ตัวอย่างความก้าวหน้าของเซนเซอร์ทางการแพทย์ ที่พัฒนาให้มีขนาดเล็ก และแม่นยำ สามารถเข้าไปฝังอยู่ในร่างกายเพื่อตรวจจับหาสัญญาณความผิดปกติของโรคได้ล่วงหน้า เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว เป็นอนาคตของการรักษาโรคที่ใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เข้ามาเป็นตัวช่วย

ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

แพลตฟอร์มวินิจฉัยโรค ด้วยเครื่องวัดและชิปขยายสัญญาณ ประมวลผลได้ด้วยระบบ AI ช่วยวินิจฉัยและคัดแยกผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ

MagikBot หุ่นยนต์ส่งยาภายในอาคาร ที่ทำงานร่วมกับลิฟต์ไร้สัมผัสได้โดยอัตโนมัติ สื่อสารผ่าน API และ Mobile Device ได้

ตัวอย่างชิปเซมิคอนดักเตอร์ MEMs ผลิตโดย TMEC โรงงานผลิตชิปต้นแบบไปจนถึงพาณิชย์ สามารถพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งาน พร้อมทดสอบคุณสมบัติทางไฟฟ้า สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทย

แพลตฟอร์ม IoT สำหรับจัดการน้ำ ใช้ตรวจวัดระดับน้ำ ที่ควบคุมได้จากระยะไกล ช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วม ผลงานของสมาคมไอโอทีแห่งประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ 50 บูธนิทรรศการ แสดงผลงานวิจัยพัฒนาด้านเซนเซอร์อัจฉริยะ จากเนคเทค สวทช. ที่พร้อมตอบโจทย์การประยุกต์ใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม และงานวิจัยขั้นสูงสู่อนาคตเทคโนโลยีเซนเซอร์ พร้อมด้วยผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม สถาบันการศึกษา ร่วมนำนวัตกรรม บริการ โซลูชัน มาตรการสนับสนุน เพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมเซนเซอร์ในประเทศ

โดยภายหลังการจัดงาน ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ สามารถติดตามบันทึกการสัมมนาย้อนหลังและข้อมูลนิทรรศการผลงานวิจัย ได้ที่เว็บไซต์ www.nectec.or.th/ace2024 ตั้งแต่ 30 กันยายน 2567 เป็นต้นไป