[Fast Travel] นอกจาก AI แล้ว วงการอวกาศก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ล่าสุดทาง NASA เผยแผนสร้าง ‘จรวดพลาสมา’ เดินทางถึงดาวอังคารได้ใน 2 เดือน จากเดิมเกือบปี
หากพิชิตดวงจันทร์ในโครงการ Artemis ได้ เป้าหมายถัดไปคือดาวอังคาร ทว่าการจะเดินทางไปนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 6 – 9 เดือน แน่นอนว่าต้องใช้ทรัพยากรจำนวนไม่น้อย กับไม่ปลอดภัยสำหรับลูกเรือที่เป็นมนุษย์ ที่ต้องเสี่ยงต่อการรับรังสีในอวกาศและต้องอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลานาน เหตุนี้จึงทำให้ NASA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหาวิธีเดินทางให้ถึงเร็วที่สุด
จนออกมาเป็นโครงการ Innovative Advanced Concepts (NIAC) ที่ได้รวมแผนแนวคิดขั้นสูงทั้งด้านการบินและอวกาศในแบบระยะยาว โดยหนึ่งในนั้นก็มีแผนการสร้างรถไฟบนดวงจันทร์ กล้องโทรทรรศน์ที่ใช้กระจกจากของเหลว และ Pulsed Plasma Rocket (PPR) หรือจรวดพลาสมา ที่ช่วยให้เดินทางถึงดาวอังคารได้ไวขึ้นเพียง 2 เดือน
ตัวจรวดได้รับการพัฒนาโดย Howe Industries บริษัทด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และการขับเคลื่อนในอวกาศจากสหรัฐฯ ช่วยพัฒนาจรวดพลาสมาสำหรับเดินทางไปดาวอังคาร โดยแผนขั้นต้นคือ การนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการจุดพลาสมา ให้เกิดแรงผลักมหาศาล เชื่ออาจสร้างได้มากถึง 100,000 นิวตัน และยังประหยัดพลังงานได้ดีเกิดคาด
สำหรับแนวคิดจรวดพลาสมาไม่ได้เพิ่งมีครั้งแรก ย้อนไปในปี 2018 ก็เคยมีโครงการ Pulsed Fission-Fusion (PuFF) PuFF ที่มีแนวคิดในการใช้พลาสมาเช่นกัน โดยนำมาบีบอัดให้เกิดแรงดันสูงในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือที่เรียกว่า z-Pinch สำหรับตัว PPR ทาง NASA เผยจะมีการสร้างตัวจรวดที่มีขนาดเล็กกว่า สร้างง่ายกว่า และประหยัดงบมากกว่าด้วย ทั้งบรรทุกยานอวกาศที่หนักกว่ามากได้ และยังติดตั้งเกราะป้องกันรังสีคอสมิกในอวกาศสำหรับลูกเรือได้อีกด้วย
ท้ายนี้แผน PPR ของ NIAC ได้เข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว โดยอยู่ในช่วงคำนวนว่า การเคลื่อนที่ของยานอวกาศจะมีปฏิสัมพันธ์กับพลาสมาอย่างไร พร้อมกับการออกแบบยานอวกาศและระบบต่าง ๆ ให้ลงตัวมากที่สุด จนสร้างเป็นจรวดที่ช่วยให้มนุษย์ สามารถถึงดาวอังคารได้ไว โดยไม่ต้องเหนื่อยกับการเดินทางเป็นเวลานานในอนาคต
ที่มา : Gizmodo