ดาราศาสตร์ไทย ไม่แพ้ใครในโลก ล่าสุดเชื่อมต่อกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาด 40 เมตร เข้าร่วมเครือข่ายนานาชาติ เดินหน้าศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ ช่วยไขปริศนาและทำความเข้าใจในธรรมชาติของวัตถุต่าง ๆ ในเอกภพ อย่างหลุมดำ ดาวนิวตรอน สสารมืด ได้ละเอียดมากขึ้น
ความร่วมมือในครั้งนี้ทำให้ไทยเข้าเป็นภาคีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลแห่งสหภาพยุโรป หรือ Joint Institute for VLBI (very-long-baseline-interferometry) European Research Infrastructure Consortium: JIVE ขยายขีดความสามารถและศักยภาพให้ทำงานร่วมกันเสมือนเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ข้ามทวีป อย่างต่อเนื่อง
นอกจากเป้าหมายหลักเพื่อการวิจัย และการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุแล้ว ยังมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านดาราศาสตร์วิทยุที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ บอกว่า “ดาราศาสตร์วิทยุ เป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง เนื่องจากศึกษาได้หลายช่วงคลื่น เพื่อทำความเข้าใจเอกภพ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ติดตั้งอยู่ภาคพื้นดินบนโลก ข้อดีคือสามารถสังเกตการณ์ได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถโดยให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่กระจายอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ทั่วโลกทำงานร่วมกัน เสมือนเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับระยะห่างระหว่างกล้องโทรทรรศน์ เรียกว่า เทคนิคแทรกสอดระยะไกล (very-long-baseline-interferometry หรือ VLBI) ซึ่งจะช่วยให้การเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อนำมาสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ร่วมกันอีกมากมายในอนาคต
เชื่อว่าในอนาคตการค้นพบทางดาราศาสตร์ครั้งใหม่ จะมีชื่อของคนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น