ความหวังของการพัฒนาเลนส์อัจฉริยะใกล้เป็นความจริง Mojo Lens ผลงานของบริษัท Startup ในอเมริกา เจ้าของเทคโนโลยีนี้เลนส์ AR ตัดสินใจเดินหน้าทดสอบการใช้งานจริงแล้ว หลังพัฒนามากว่า 5 ปี
ต้นแบบเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้ นอกจากจะช่วยแก้ไขการมองเห็นแล้ว ยังได้รวมเอาจอแสดงผล microLED ขนาดเล็ก ติดเซนเซอร์อัจฉริยะ และแบตเตอรี่โซลิดสเตต ทำให้ผู้สวมใส่มองเห็นสิ่งที่ลอยอยู่ด้านหน้า คล้ายกับหน้าจอคอมพิวเตอร์
โดยได้ทีมวิจัยจาก University of Surrey ร่วมพัฒนาคอนแทคเลนส์อัจฉริยะที่มีเครื่องตรวจจับภาพถ่ายเพื่อรับข้อมูลออปติคัล เซ็นเซอร์อุณหภูมิสำหรับวินิจฉัยโรคกระจกตาที่อาจเกิดขึ้น และเซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในของเหลวน้ำตา
ความหวังของของโปรเจคนี้คือใช้ช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคได้ ตั้งแต่ติดตามความดันในลูกตาของผู้สวมใส่ ระดับน้ำตาลที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือแม้แต่โรคมะเร็ง ที่รู้ล่วงหน้าได้จากตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เช่น โมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง
ความท้าทายของเทคโนโลยีเลนส์อัจฉริยะนี้ นอกจากจะต้องปรับแต่งประสิทธิภาพให้พร้อมใช้งานแล้ว ความยากของการทดสอบคือทำอย่างไรให้สวมใส่ได้เป็นเวลานาน หรือตลอดทั้งวันให้เหมาะกับการใช้งานจริง ซึ่งทีมวิจัยได้พัฒนาให้เลนส์มีชั้นตาข่ายที่บางเป็นพิเศษ สามารถใส่ชั้นเซนเซอร์ลงบนคอนแทคเลนส์โดยตรง ทำให้รู้สึกสบายเมื่อสวมใส่เพราะมีความยืดหยุ่นขณะสัมผัสโดยตรงกับสารละลายน้ำตา
อีกทั้งพลังงานจากแบตเตอรี่ที่ซ่อนอยู่ในตัวเลนส์ ที่ต้องมีขนาดเล็กและมีพลังงานเพียงพอสำหรับการใช้งาน แบบที่ใส่ได้ทั้งวันโดยไม่ต้องชาร์จใหม่ โดยเลนส์ของ Mojo จะใช้งานได้ไม่เกิน 1 ปี และสามารถแจ้งเตือนช่วงเวลาทำความสะอาดได้
การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งอีกหนึ่งความพยายามในการพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ท่ามกลางอุปสรรค ตัวอย่างเช่นความล้มเหลวของ Google Glass แว่นตาอัจฉริยะของกูเกิล รวมถึงข้อกังวลกรณีมีการใช้กล้องถ่ายภาพ หรือบันทึกวิดีโอ ที่อาจส่งผลกระทบถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของข้อมูล ที่ต้องผ่านอีกหลายด่านกว่าจะออกมาใช้งานจริงได้
ที่มา : https://www.bbc.com/news/business-61318460
#TechhubUpdate #AR #Lens