บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ประกาศรายชื่อทีมชนะเลิศการแข่งขัน Imagine Cup Thailand 2016 (อิมเมจิ้น คัพ ไทยแลนด์) ในประเภท World Citizenship, Innovation และ Game Design โดยนักศึกษาที่ชนะเลิศทั้ง 3 ทีม ได้ผ่านการแข่งขันสุดเข้มข้นจากผู้เข้าแข่งขันกว่า 100 ทีมทั่วประเทศ
โครงการ Imagine Cup Thailand 2016 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Student2Startups” เนื่องจากปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เทียบเท่ากับประเทศเวียดนามในแง่ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ได้มีการลงทุนจากกองทุน หรือ venture capital เป็นจำนวนเงินประมาณ 32 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.1 พันล้านบาท สูงขึ้นถึง 170% จากปี 2557 และคาดว่าในปี 2559 นี้ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของรัฐบาล
โครงการ Imagine Cup Thailand เปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอไอเดียด้านนวัตกรรมต่อผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไอทีและพัฒนาทักษะในการดำเนินธุรกิจด้วยการนำผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสู่ตลาดได้สำเร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่มีอยู่ประมาณ 2,000 รายในปัจจุบันให้เติบโตมากขึ้น โดยตลอดระยะเวลา 14 ปีของการแข่งขัน Imagine Cup ทีมนักศึกษาจากประเทศไทยสามารถครองแชมป์การแข่งขันในระดับโลกถึง 3 สมัย คือ ในปี 2550 2553 และ 2555 นอกจากนี้ โครงการ Imagine Cup ที่ผ่านมาได้สร้างผู้ประกอบการและผู้ประกอบการเพื่อสังคมหลายคนที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น นายพิชัย โสดใส จากทีม Skeek หนึ่งในสมาชิกทีมที่ชนะการแข่งขันระดับโลกในปี 2553 นายสุทัศน์ รองเรือง จากทีม SuperLove Factory ผู้เข้าแข่งขัน Imagine Cup ปี 2553 และทีม DOM ทีมชนะเลิศในการแข่งขันประเภท Innovation ในปี 2557
นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ตอนนี้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างตื่นตัวและให้การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นอย่างมาก สำหรับไมโครซอฟท์เอง เราเป็นบริษัทไอทีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศที่มีโครงการและแพลทฟอร์มต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยอย่างครบวงจร เราได้มีการสนับสนุนเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ไปจนถึงการจับมือคู่ค้าเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระหรือ ISV รวมไปถึงการสร้างบุคลากรคุณภาพ และการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีแก่นักเรียน นักศึกษาตลอดจนธุรกิจขนาดใหญ่ จากความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง 14 ปีของการแข่งขัน Imagine Cup Thailand เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าไมโครซอฟท์ยังคงมุ่งมั่นเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนไทย โดยตั้งเป้าหมายเพื่อผลักดันวงการซอฟต์แวร์ไทยให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น”
มร. กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า “สถานทูตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนการแข่งขัน Imagine Cup สาขา World Citizenship ในปีนี้ ความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าเยาวชนที่มาพร้อมความตั้งใจทุ่มเทในการแก้ปัญหาสังคมและสร้างความแตกต่างแก่โลกใบนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง เราได้เห็นไอเดียเริ่มแรกของการแข่งขันต่อยอดไปเป็นนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในทางที่ดีแก่สังคมและยังสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราจึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีส่วนร่วมในนวัตกรรมดีๆ เช่นนี้”
“การตัดสินผู้ชนะในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากเราได้เห็นไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นมากมายจากผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อให้ไอเดียนั้นกลายเป็นนวัตกรรมอันทรงพลัง ไมโครซอฟท์เชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ของเยาวชนว่าสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกได้ และหวังว่าการเข้าร่วมแข่งขัน Imagine Cup ในครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต” นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศทั้ง 3 ทีม จากประเภท World Citizenship, Innovation และ Game Design จะได้รับรางวัลเป็นถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยเงินรางวัล และมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันในระดับโลก ซึ่งทีมผู้ชนะจะมีโอกาสในการนำเสนอไอเดียต่างๆ ต่อทีมผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟท์
นอกจากนี้ ทีมผู้ชนะในการแข่งขันประเภท Windows Internet of Things (IoT) Special Awards จะได้รับเงินรางวัลและแท็บเล็ตวินโดวส์ 10 ส่วนผู้ชนะ US Embassy People’s Choice Award จะได้รับเงินรางวัลสนับสนุนเพิ่มเติม
ตั้งแต่เริ่มโครงการ มีนักศึกษามากกว่า 1.65 ล้านคน จาก 190 ประเทศทั่วโลก ได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันในการแข่งขัน Imagine Cup
ทีมผู้ชนะ ประเภท World Citizenship ได้แก่ ทีมริค-ซึ่ม (RICSM) มหาวิทยาลัยมหิดลกับผลงานดีเบท (DB8)
รายละเอียด: แอพพลิเคชั่นของพวกเราจะช่วยให้นักเรียนไทยกล้าพูดภาษาอังกฤษ โดยการโต้ตอบและ/หรือพูดคุยผ่านกิจกรรมอื่นๆ
ประเภท Innovation ได้แก่ ทีมเมรากิ (Meraki) มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานโปรเทียร์ (Prothier)
รายละเอียด: โปรเทียร์เป็นระบบที่เชื่อมผู้ประกอบการธุรกิจสู่ลูกค้า เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถโปรโมทร้านค้าตนเอง โดยนอกจากนี้ ผู้ใช้งานฝั่งลูกค้ายังสามารถเลือกดูร้านค้าที่มีโปรโมชั่นในละแวกใกล้เคียงได้อีกด้วย
ประเภท Game Design ได้แก่ ทีมพีเอชทเวนตี้วัน (PH21) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานไทม์ลาย (Timelie)
รายละเอียด: ไทม์ลาย เป็นเกมพัซเซิลแนวใหม่ที่ใช้หลักการควบคุมเวลามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขพัซเซิลต่าง ๆ ภายในเกมสามารถควบคุมตัวละครได้พร้อมกันสองตัวละครเพื่อใช้สำหรับการแก้ไขพัซเซิลด้วยการควบคุมเวลาเพื่อมองเห็นอนาคตและสามารถวางแผนการกระทำต่าง ๆ รวมทั้งยังสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขเหตุการณ์ที่ผ่านมาเพื่อให้อนาคตเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผู้เล่นต้องการ
รองชนะเลิศ
ประเภท World Citizenship
รองชนะเลิศอันดับที่ 1
ทีม: แพลน ทอ เรอร์ (Plantorer) (มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ)
ผลงาน: แพลน ทอ รี่ (Plantory)
รายละเอียด: แนวคิด การจัดการพื้นที่การเกษตรที่ดี โดยนำเทคโลยีการเลี้ยงปลามาผสมผสานร่วมกันออกมาเป็นระบบของการเลี้ยงสัตว์น้ำและการปลูกพืชเข้าด้วยกัน ระบบเกษตรที่พึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างปลาและพืชผัก สามารถทำได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ซึ่งในปัจจุบันทำได้โดยการเลี้ยงปลาแบบน้ำไหลเวียนร่วมกับการปลูกพืชผัก ด้วยระบบไฮโดรโปรนิกส์ ซึ่งเป็นการพัฒนาขั้นสูงของนักวิจัยและผู้ปลูกพืชผัก เพื่อให้เกิดต้นแบบการผลิตอาหารแบบยั่งยืนเพื่อเลี้ยงประชากรโลกในอนาคต
รองชนะเลิศอันดับที่ 2
ทีม: ออนไฟร์ (OnFire) (มหาวิทยาลัยมหิดล)
ผลงาน: มายด์เมจิค (MindMagic)
รายละเอียด: มายด์เมจิคเป็นระบบบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้ที่บกพร่องทางการเคลื่อนไหว เมื่อสวมใส่เครื่องตรวจจับคลื่นไฟฟ้าสมอง ผู้ใช้สามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้โดยการกระพริบตา ทำให้เกิดความสะดวกสบายและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ประเภท Innovation
รองชนะเลิศอันดับที่ 1
ทีม: ซีเอมไอที แฮปติกแอนด์โรโบติก แลป (CMIT Haptics&Robotics LAB) (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ผลงาน: ไบ-โรบอท ทัช (Bi-Robot Touch)
รายละเอียด: หุ่นยนต์ Bi-Robot Touch ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานที่ต้องใช้การถ่ายทอดและส่งผ่านแรงสัมผัส โดยทางทีมงานได้จำลองกิจกรรมการเขียนพู่กัน ซึ่งจำเป็นต้องลงน้ำหนักมือให้เหมาะสมจึงจะได้ตัวอักษรที่สวยงาม
รองชนะเลิศอันดับที่ 2
ทีม: ซีแบร์ทีม (Zbear Team) (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)
ผลงาน: ซีแบร์ (Zbear)
รายละเอียด: Zbear เป็นโครงงานพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เป็นสื่อการสอนในรูปแบบที่เน้นความสนุกสนาน (Edutainment) ซึ่งจำลองการเลี้ยงสัตว์ นั่นก็คือหมีขั้วโลกชื่อ ซีแบร์ (Zbear) บนโลกความเป็นจริงด้วยเทคโนโลยีการผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกความเป็นจริง โดยสามารถเล่นและถามตอบความรู้เกี่ยวกับหมีขั้วโลกและสภาวะโลกร้อน
ประเภท Windows Internet of Things (IoT)
ทีม: KUSRC (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน)
ผลงาน: ระบบแถวคอยอัจฉริยะ
รายละเอียด: ระบบแถวคอยอัจฉริยะจะช่วยในการจัดการคิวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านระบบ Internet of Things (IoT) โดยจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรู้การอัพเดทคิวผ่านการแจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลา