ไม่บ่อยนักที่เราจะได้ยินเหตุการณ์การปลดพนักงานจำนวนหลายพันคน แต่สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับบริษัทไอทีระดับโลกอย่าง “Microsoft” และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่การก้าวสู่ยุคการบริหารงานโดย Satya Nadella ซีอีโอคนใหม่ Microsoft เคยปลดพนักงานครั้งใหญ่ไปแล้วในครั้งแรกถึง 18,000 คน ก่อให้เกิดคำถามมากมายต่อเหตุการณ์ดังกล่าว หรือ Microsoft จะก้าวเข้าสู่ยุคมืดเสียแล้ว … ?
การเข้าซื้อธุรกิจฝ่ายโทรศัพท์มือถือ Nokia ด้วยมูลค่ามหาศาล มีเป้าหมายในการรุกตลาดสมาร์ทโฟนอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ Microsoft Lumia ที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows Phone ซึ่งความพยายามที่ผ่านมาในระยะเวลา 18 เดือน ด้วยการเปิดตัว Microsoft Lumia รุ่นใหม่ๆ เพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้ในตลาดระดับล่าง ระดับกลาง ไปจนถึงระดับไฮเอนด์ กลับสร้างความผิดหวังให้กับ Microsoft และจากตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดที่จัดขึ้นโดย IDC ประจำไตรมาสแรกของปี 2015 ชี้ให้เห็นว่าสมาร์ทโฟน Windows มีส่วนแบ่งทั่วโลกเพียง 2.7% เท่านั้น เป็นรอง Android และ iOS อยู่ค่อนข้างมาก
สถานการณ์ของธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้ Microsoft ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ใหม่และโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2015 ที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง หนึ่งในนั้นคือการก้าวลงจากตำแหน่งผู้บริหารของ Stephen Elop อดีตซีอีโอ Nokia และมีการตั้งทีมใหม่ที่เรียกว่า Windows and Devices Group (WDG) เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มากขึ้นภายใต้ ecosystem ของ Windows ซึ่งทีม WDG จะเป็นตัวขับเคลื่อน Windows สำหรับทุกอุปกรณ์
ผ่านไปเพียง 1 เดือน Microsoft ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรต่อเนื่องด้วยการปลดพนักงานจำนวน 7,800 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน Nokia โดย Satya Nadella ซีอีโอ Microsoft ชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย “การปรับโครงสร้างองค์กรขั้นฐาน” แต่ไม่ได้หมายความว่า Microsoft จะยุติบทบาทของธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบ ecosystem ด้านอุปกรณ์สำหรับ Windows ให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับธุรกิจสมาร์ทโฟน และในระยะเวลาอันใกล้นี้ Microsoft วางแผนพัฒนาประสิทธิภาพสมาร์ทโฟนให้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาดให้รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งจำกัดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลง
ซึ่งกลยุทธ์ใหม่ของ Microsoft ต่อธุรกิจสมาร์ทโฟนได้กำหนด 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
-ลูกค้าประเภทองค์กร เน้นตอบโจทย์ด้านการบริหารจัดการ รักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดและประสบการณ์การผลิต
-ผู้ซื้อทั่วไปที่เน้นความคุ้มค่าจากการเลือกซื้อ ทั้งในเรื่องคุณภาพ บริการ และราคา
-กลุ่มลูกค้าที่เป็นแฟนตัวยงของ Windows และชื่นชอบในอุปกรณ์ประเภทเรือธง
แต่เพียงเท่านี้คงไม่พอ ต้องหวังพึ่ง Windows 10 ด้วย …
เชื่อได้เลยว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์พีซีที่เป็น Windows 7, 8 หรือ 8.1 ไม่ว่าจะใช้ของแท้อยู่หรือของเถื่อน ต่างเฝ้ารอการอัพเดต Windows 10 ในวันที่ 29 กรกฎาคม ศกนี้ ( ตรงกับเวลาประเทศไทยในวันที่ 30 กรกฎาคม ) และการมาของ Windows 10 ที่ไม่ธรรมดาในครั้งนี้ จะสามารถรองรับแอพฯได้ทั้ง Android และ iOS ซึ่งเมื่อครั้งเปิดตัวช่วงต้นปีได้สร้างเสียงฮือฮาอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่ !! การรองรับในที่นี้คือ การรองรับโค้ดของแอพฯ ทั้งสองระบบปฎิบัติการดังกล่าว คือ สามารถนำโค้ดของ Android และ iOS มาแปลงร่างให้เป็น Windows App ได้ง่ายๆ โดยที่นักพัฒนาไม่ต้องทำงานหนักอย่างการเขียนโค้ดขึ้นมาใหม่อีกต่อไป เท่ากับว่าไม่ได้หมายถึงการติดตั้งแอพฯ Android หรือ iOS บน Windows 10 โดยตรง แต่ต้องมีการเอาไปผ่าตัดก่อน จึงจะเอามายัดได้ ซึ่งส่วนนี้คืองานของนักพัฒนาเท่านั้น
และการเดินหมากเช่นนี้ของ Windows 10 ยังเสมือนเป็นการบอกใบ้ไปถึงผู้ใช้สมาร์ทโฟน Windows ว่า หลังจากนี้ “พวกเขาจะไม่ถูกทอดทิ้ง” เพราะหลายแอพที่รันใน iPhone และ Android จะต้องมีในสมาร์ทโฟนที่เป็น Windows 10 ด้วย อีกทั้ง Microsoft ยังตั้งเป้าให้มีอุปกรณ์ที่รองรับ Windows 10 ให้ได้ถึง 1 พันล้านเครื่องภายใน 2 ปีนับจากนี้ เรียกได้ว่าทุ่มสุดตัว !!
แน่นอนว่ากลยุทธ์ดังกล่าวส่วนหนึ่งต้องการกระตุ้นเกิดความสนใจมากขึ้น ทั้งจากผู้ผลิตรายอื่นๆ และที่สำคัญการเข้าถึงผู้ใช้สมาร์ทโฟนในกลุ่มเป้าหมายที่ Microsoft กำหนดไว้
การขยับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งของ Microsoft น่าสนใจว่าจะช่วยสร้างอนาคตให้สมาร์ทโฟน Windows ให้สดใสได้อย่างที่คาดหวังได้หรือไม่ งานนี้คงต้องติดตามกันยาวๆ ครับ