ไมโครซอฟท์เผยผลสำรวจ ชี้ 89% ของผู้นำภาคธุรกิจไทยมองการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ

ผลการสำรวจผู้นำภาคธุรกิจในประเทศไทยและเอเชียของไมโครซอฟท์ เผยว่าองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบและแนวทางการทำธุรกิจเพื่อให้สามารถอยู่รอดในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดย 89% ของผู้นำภาคธุรกิจไทย เห็นว่าทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลเพื่อผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีองค์กรเพียง 29% ที่มีกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเต็มรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ขณะที่ 41% อยู่ในขั้นการเริ่มดำเนินกลยุทธ์บางส่วน และอีก 30% ยังขาดความพร้อมในเชิงกลยุทธ์

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย ฌอน ลอยเซลล์ (กลาง) ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจองค์กรและพันธมิตร และ ชาญ อาริยะกุล (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้จัดการอาวุโสกลุ่มธุรกิจคลาวด์และองค์กร เผยผลสำรวจความพร้อมด้านการปฏิรูปธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล พร้อมยกให้ทีเอ็มบี นำโดยลอเรนโซ ทัสซาน-บัสซัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ (ที่ 2 จากขวา) กฤษฎิ์พจน์ จัตตะมะละกุล เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการสารสนเทศ (ขวาสุด) และ นิธิ ธนปิยะวณิชย์ (ซ้ายสุด) เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายจัดการคลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นองค์กรตัวอย่างในภาคอุตสาหกรรมการเงิน

การสำรวจ Microsoft Asia Digital Transformation ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้นำภาคธุรกิจทั่วเอเชียจำนวน 1,494 คน รวมถึงผู้บริหารจำนวน 117 คนจากประเทศไทย โดยผู้นำภาคธุรกิจเหล่านี้ล้วนมีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์เชิงดิจิทัลในองค์กรของตน

“ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ปูทางไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งมีนวัตกรรมอย่างเครือข่าย IoT (Internet of Things) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (advanced data analytics) และการผสมผสานโลกดิจิทัลเข้ากับโลกแห่งความจริง (mixed reality) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของเทคโนโลยีคลาวด์ และเปิดประตูไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด” ฌอน ลอยเซลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจองค์กรและพันธมิตร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ผลสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้นำในภาคธุรกิจได้เริ่มเดินหน้าเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ยุคดิจิทัลกันอย่างจริงจัง เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้น ไมโครซอฟท์เชื่อว่าการปฏิรูปธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลนี้จำต้องครอบคลุม 4 มิติหลัก ได้แก่ การเสริมศักยภาพให้กับพนักงาน ยกระดับการเข้าถึงและให้บริการลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร และการใช้เทคโนโลยีพลิกรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งทั้งหมดสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยข้อมูลและคลาวด์”

สำหรับคำจำกัดความของทั้ง 4 มิติดังกล่าวจากมุมมองของไมโครซอฟท์ มีดังต่อไปนี้

1. การเข้าถึงลูกค้า: ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลสามารถเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับบริการหรือสินค้าจากข้อมูลออนไลน์ที่มีอยู่มากมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และบริการนั้นๆ ก่อนตัดสินใจซื้อหรือใช้งาน ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นจะต้องการสร้างความแตกต่างและโดดเด่นโดยการนำเสนอเนื้อหาหรือข้อมูลที่สร้างจากประสบการณ์ที่ปรับแต่งมาให้เข้ากับลูกค้าแต่ละคน ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยไม่ทิ้งเรื่องความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการเข้าถึงหรือใช้งาน

2. การเสริมศักยภาพให้กับพนักงาน: รูปแบบของการทำงานและสถานที่ทำงานในยุคใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยองค์กรสามารถเสริมศักยภาพให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เปิดให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลและแอพพลิเคชันต่างๆ พร้อมทั้งทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ทุกที่ ทุกเวลา ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

3. การยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร : เทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจดิจิทัลอย่าง IoT (Internet of Things) กำลังยกระดับประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจด้วยความสามารถในการรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งได้อย่างรวดเร็ว เพื่อวิเคราะห์หาข้อสรุปใหม่ๆ ที่นำไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรในภาคการผลิต ค้าปลีก หรือแม้แต่ภาคสาธารณสุข สามารถปรับแนวทางการทำงานจากเพียงแค่การตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในภายหลัง ให้เป็นการโต้ตอบแบบเรียลไทม์ หรือแม้แต่การคาดเดาและแก้ไขปัญหาของลูกค้าแบบล่วงหน้า

4. การพลิกรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจ: ความเป็นไปได้ในการนำซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีมาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการทำให้องค์กรสามารถนำเสนอและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตลาดที่มีอยู่เดิม

ทีเอ็มบีเดินหน้า พลิกโฉมธุรกิจธนาคารในประเทศไทย

ลอเรนโซ ทัสซาน-บัสซัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ ทีเอ็มบี

ในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ทำงานร่วมกับองค์กรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล โดยตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำอย่างทีเอ็มบี เพื่อต่อยอดประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารกว่า 50 ปี พร้อมก้าวสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ที่มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถใช้ชีวิตในแบบของตนได้อย่างเต็มที่

“เราเริ่มนำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์มาใช้ในปี 2557 หลังจากที่เราเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการนำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพของพนักงาน และสนับสนุนการทำงานร่วมกันให้มากกว่าที่เคย” ลอเรนโซ ทัสซาน-บัสซัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ ทีเอ็มบี กล่าว “ในฐานะธนาคารแห่งแรกของไทยที่เลือกใช้ Office 365 เราพบว่าชุดเครื่องมือเพื่อการทำงานบนคลาวด์ของไมโครซอฟท์ทำให้พนักงานของเราสามารถทำงานร่วมกันได้ จากทุกที่ ทุกเวลา”

“เราปรับโครงสร้างการเข้าถึงและใช้งานข้อมูลภายในองค์กรให้เป็นอิสระมากขึ้น โดยแทนที่จะเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ที่ส่วนกลาง เราจัดเก็บข้อมูลแต่ละส่วนแยกตามความจำเป็นในการใช้ของแต่ละบุคคล โดยที่บุคคลอื่นยังสามารถเข้าถึงข้อมูลในส่วนนั้นได้หากต้องการ วิธีนี้ทำให้พนักงานของเรากว่า 9,200 คนมีข้อมูลที่จำเป็นอยู่ในมือ พร้อมนำไปประกอบใช้หรือให้บริการที่แตกต่างและดีที่สุดสำหรับลูกค้า ส่วน PowerBI ก็ทำให้เราสามารถดึงข้อมูลลูกค้าเชิงลึกมาใช้งาน เพื่อให้สามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด“

นอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากและการทำงานทุกที่ทุกเวลาด้วย Office 365 แล้ว ธนาคารทีเอ็มบียังใช้ SharePoint, Yammer, OneDrive, และ Skype for Business เป็นรากฐานของแพลตฟอร์มการประสานงานภายในองค์กรที่ครอบคลุมพนักงานอย่างทั่วถึง เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำงานจากนอกสำนักงานได้ง่ายขึ้น กระจายข้อมูลไปยังจุดหมายที่ต้องการได้รวดเร็ว สนับสนุนการสื่อสารด้วยภาพที่กระชับและชัดเจน ทั้งยังช่วยลดการใช้งานทรัพยากรกระดาษอีกด้วย

“ในระดับโครงสร้างพื้นฐาน เราใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ ควบคู่กับ Red Hat Linux ที่ทำงานบนเซิร์ฟเวอร์เสมือนในระบบคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์” มร. ทัสซาน-บัสซัทกล่าวเสริม “ปัจจุบัน แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ของธนาคารทำงานอยู่บนระบบคลาวด์สาธารณะ เพราะอาซัวร์มีระบบความปลอดภัยระดับโลก และยังผ่านการรับรองตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมการเงินอีกด้วย นอกจากนี้ เรายังใช้แพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์เป็นพื้นฐานของการพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ ให้กับทีเอ็มบีในอนาคต เช่น ระบบวิเคราะห์จดจำใบหน้า ซึ่งทำให้เราสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น”

การพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลนี้ทำให้ทีเอ็มบีประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของธนาคารที่มองลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด “ด้วยความยืดหยุ่นของโครงสร้างระบบคลาวด์ที่พร้อมรองรับการขยายธุรกิจอยู่เสมอ เราจึงสามารถนำเสนอบริการได้โดยส่งตรงถึงมือลูกค้า ไม่ต้องรอให้ลูกค้าเดินทางมาที่สาขา” มร. ทัสซาน-บัสซัทกล่าว “ด้วยเหตุนี้ ยอดการทำธุรกรรมผ่านช่องทางโมบายของเราจึงพุ่งขึ้นสูงกว่าตู้เอทีเอ็มและสาขา โดยที่ยอดลูกค้าที่ใช้บริการผ่านช่องทางเดิมไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ขณะที่ยอดการทำธุรกรรมทางการเงินในภาพรวมก็สูงขึ้นจากเดิมด้วยอัตราระดับสองหลัก”

ธุรกิจมุ่งเป้าสู่เทคโนโลยีล้ำสมัย

ผลสำรวจ Microsoft Asia Digital Transformation สะท้อนเรื่องราวความสำเร็จของธนาคารทีเอ็มบีได้เป็นอย่างดี โดยพบว่า 83% ของผู้นำทางธุรกิจเห็นว่าเทคโนโลยีคลาวด์และราคาที่ลดลงของดีไวซ์ต่างๆ เป็นปัจจัยทำให้องค์กรทุกขนาดมีโอกาสปฏิรูปธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (82%) ยังระบุว่าคลาวด์เป็นสิ่งที่สำคัญต่อกลยุทธ์ในยุคเศรฐกิจดิจิทัล

ในอีก 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า ผู้นำทางธุรกิจในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย เพื่อเร่งกระบวนการพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ IoT (Internet of Things)

ส่วนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งมักถูกยกให้เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินการธนาคารมากที่สุด กลับพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของผู้บริหารที่เข้าร่วมการสำรวจที่ระบุว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญกับองค์กร

คุณลอยเซลล์ กล่าวเสริม “ยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นภัยคุกคามต่อธนาคาร แต่ที่จริงแล้ว ผู้นำทางธุรกิจการเงินควรมองว่าบล็อกเชนจะสามารถช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจ และยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน”

ความท้าทายในการพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลในเอเชีย แปซิฟิก

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจดิจิทัลจะสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับองค์กรธุรกิจและพนักงาน แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงในความเป็นจริงกลับเป็นไปอย่างล่าช้า โดยมีเพียง 29% เท่านั้นที่มีกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ผู้นำทางธุรกิจในผลสำรวจมองว่าอุปสรรคในการปฏิรูปธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล คือ การขาดแรงงานที่มีความเชียวชาญด้านดิจิทัล ขาดผู้นำองค์กรในด้านการพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล และความกังวลด้านความปลอดภัย

ในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ ภัยร้ายที่มีต่อความปลอดภัยของข้อมูลถือเป็นความเสี่ยงที่ทุกคนไม่อาจเพิกเฉยได้ แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีผู้นำในภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าระบบคลาวด์มีความปลอดภัยน้อยกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว แพลตฟอร์มคลาวด์ในปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้ปลอดภัยกว่าที่เคย หรืออาจกล่าวได้ว่าปลอดภัยกว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานไอทีรูปแบบเดิมๆ เสียด้วยซ้ำ โดยผลสำรวจผู้บริการสายไอที 1,200 คนในแถบเอเชีย แปซิฟิกของไมโครซอฟท์ พบว่า 93% ของผู้บริหารด้านไอทีในประเทศไทยเห็นว่าคลาวด์มีความปลอดภัยสูงกว่าในระยะยาว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here