ทีเส็บชูงาน MICE Techno Mart 2022 เป็นเวทีขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มุ่งยกระดับมาตรฐานการจัดงานไมซ์ ผ่านกิจกรรมการนำเสนอไอเดียการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดงาน (Pitching) เพื่อชิงทุนขอรับการสนับสนุนคูปองนวัตกรรม MICE Inno-Voucher มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บยังคงเดินหน้าผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ โดยกำหนดจัดงาน MICE Techno Mart 2022 ภายใต้โครงการ MICE Winnovation ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ในวันที่ 1 เมษายน 2565 ณ โรงแรม ไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท เพื่อเป็นเวทีสร้างสรรค์มิติใหม่ของการยกระดับมาตรฐานการจัดงานไมซ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งครั้งนี้ได้เปิดกว้างการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ นวัตกรรมสุขภาพ เทคโนโลยี AR/VR และอื่นๆ กว่า 10 หมวดเทคโนโลยี โดยในงานมีกิจกรรมไฮไลท์สำคัญคือ การนำเสนอไอเดียการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดงาน (Pitching) เพื่อชิงทุนขอรับการสนับสนุนในรูปแบบคูปองนวัตกรรม MICE Inno-Voucher จากทีเส็บ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.คูปองนวัตกรรมสำหรับผู้จัดงาน หรือ Inno-Voucher และ 2.คูปองนวัตกรรมสำหรับสถานที่จัดงาน หรือ Inno-Venue Voucher มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านบาท
“นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐและแนวทางการดำเนินงานของทีเส็บที่มุ่งเน้นดึงนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศเข้ามาจัดงานในประเทศไทย ทำให้การจัดงานไมซ์รวมถึงสถานที่จัดงานกลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อผลสำเร็จและความปลอดภัยของผู้ร่วมงาน ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้จัดงานและสถานที่จัดงานนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ จึงมีความสำคัญและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก”
โดยกิจกรรมการนำเสนอไอเดียการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดงาน (Pitching) ทั้งในประเภทผู้จัดงาน และสถานที่จัดงาน ซึ่งต้องจับคู่กับบริษัทผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันนำเสนอวิธีการและความเหมาะสมของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความคุ้มค่ามาสร้างสรรค์ในการจัดงานโดยมุ่งไปสู่การยกระดับการจัดงานไมซ์และสถานที่จัดงานด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
ซึ่งในส่วนของคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้จัดงาน (Inno-Voucher) ให้ทุนสนับสนุน 3 แบบ ได้แก่
- Inno-Voucher L โดยเป็นงานที่มีการใช้นวัตกรรมในการจัดงานไม่น้อยกว่า 3 วัน มีการใช้เทคโนโลยีผสมผสาน และต้องมีผู้ได้รับประโยชน์นวัตกรรมไม่น้อยกว่า 1,000 คน รับทุนสนับสนุนสูงสุด 500,000 บาท
- Inno-Voucher M เป็นงานที่มีการใช้นวัตกรรมในการจัดงานไม่น้อยกว่า 1 วัน และต้องมีผู้ได้รับประโยชน์นวัตกรรมไม่น้อยกว่า 300 คน รับทุนสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาท
- Contactless Voucher เป็นงานที่มีการใช้นวัตกรรมส่งเสริมความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกนักเดินทางไมซ์ รับทุนสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาท
ส่วนคูปองนวัตกรรมสำหรับสถานที่จัดงาน (Inno-Venue Voucher) ให้ทุนสนับสนุน 2 แบบ ได้แก่
- Innovative Convention Center Voucher โดยมีพื้นที่ใช้นวัตกรรม 3,000 ตารางเมตรขึ้นไป และใช้เทคโนโลยีในการจัดงานไม่น้อยกว่า 3 งาน รับทุนสนับสนุนสูงสุด 1 ล้านบาท
- Smart Venue Voucher มีพื้นที่ใช้นวัตกรรมไม่เกิน 3,000 ตารางเมตร และใช้เทคโนโลยีในการจัดงานไม่น้อยกว่า 2 งาน รับทุนสนับสนุนสูงสุด 500,000 บาท
อีกทั้ง ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและต่อยอดธุรกิจร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ซื้อจากผู้ประกอบการไมซ์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 150 ราย และกลุ่มผู้ขายซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจำนวน 30 ราย โดยประมาณการว่าจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจได้ราว 150 คู่ ขณะที่ในปีที่ผ่านมามีการจับคู่ธุรกิจได้ 312 คู่ ซึ่งทำให้เกิดการจัดงานที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการจัดงานถึง 21 งาน
นายจิรุตถ์ กล่าวต่อไปว่า การผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไมซ์ ผ่านโครงการ MICE Winnovation นอกจากงาน MICE Techno Mart และการให้ทุนสนับสนุนในรูปแบบ MICE Inno-Voucher นี้แล้ว ทีเส็บยังเดินหน้าพัฒนาระบบฐานข้อมูลและตลาดออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ และบริษัทผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านแพลตฟอร์ม MICE Innovation Catalog อย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะกับอุตสาหกรรมไมซ์เข้าร่วมบนแพลตฟอร์มดังกล่าวจำนวน 70 นวัตกรรม จาก 60 บริษัท และในปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าร่วมเพิ่มเป็น 100 นวัตกรรม จาก 70-80 บริษัท
ขณะเดียวกันนี้ ทีเส็บก็ยังคงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ในหัวข้อที่น่าสนใจร่วมกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญผ่าน MICE Digital Literacy of MICE ใน 2 กิจกรรมหลักด้วย คือ 1.กิจกรรม MICE Intelligence Talk ซึ่งจะจัดในรูปแบบไฮบริด จำนวน 8 ครั้ง เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคได้เพิ่มพูนทักษะความรู้อย่างต่อเนื่อง และ 2.กิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้ให้บริการนวัตกรรมไมซ์และเครือข่าย ภายใต้แนวคิด Talk Trick Touch ในรูปแบบการจัดงานจริง (On-Site) จำนวน 2 ครั้ง เพื่อให้บริษัทผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้เพิ่มพูนทักษะความรู้และมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมไมซ์ รวมถึงเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการไมซ์แบบตัวต่อตัว
“ปัจจุบันผู้จัดงานไมซ์และสถานที่จัดงานได้ให้ความสนใจกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงานกันมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานแล้ว ยังเป็นการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นด้วย ทีเส็บเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาโดยตลอดและได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องแบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างฐานข้อมูล ส่งเสริมและพัฒนาตลาด สนับสนุนเงินทุน รวมถึงการให้องค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไมซ์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาผลกระทบจาก โควิด 19 และเตรียมพร้อมรับการจัดงานไมซ์ในอนาคต” นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย