บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด หรือ MFEC ผู้นำด้านไอทีครบวงจรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโซลูชันไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ผนึกกำลังพันธมิตรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลกมากกว่า 20 ราย จัดงาน MFEC Cyber Sec Pro 2023: Protecting your business in a Connected World by Professional ชูกลยุทธ์โซลูชันป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ภายใต้แนวคิด O₃ (Observability, Orchestrator, Optimization) เดินหน้ารุกตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพื่อตอบรับความต้องการที่สูงขึ้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายรายได้ 1.5 พันล้านบาทในสิ้นปี 2566
โลกที่เปลี่ยนไป กับความท้าทายในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์
ภายใต้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเทรนด์การทำงานในองค์กรต่างๆ ทั่วโลกเปลี่ยนเป็นแบบไฮบริด ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของดิจิทัลฟุตพรินต์มากมายที่มาพร้อมกับภัยคุกคามและความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้องค์กรหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้มากขึ้น ในปัจจุบันองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ทางธุรกิจระยะยาวเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้เพื่อรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และมูลค่าความเสียหายที่สูงขึ้น
คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญสืบเนื่องมาจากความต้องการของตลาดที่ผันเปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล แทบทุกกลุ่มธุรกิจต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และมองหาโซลูชันที่สามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยประสบการณ์ 26 ปีทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของ MFEC และบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้พร้อมที่จะนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ตรงประเด็นและเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า เราจึงได้รวบรวมสถานการณ์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นกับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยนำมาออกแบบกลยุทธ์ O3 เพื่อหาแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้จริงอย่างยั่งยืน”
กลยุทธ์ O3 ช่วยธุรกิจจากภัยไซเบอร์ได้อย่างไร
ความท้าทายในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อผลักดันให้การเติบโตของธุรกิจผ่านการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเป็นไปอย่างปลอดภัยถือเป็นเป้าหมายหลักของ MFEC ในการนำเสนอกลยุทธ์โซลูชัน O3 ที่สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาได้ครบทุกมิติตั้งแต่การป้องกัน การตรวจจับ และการแก้ไขเมื่อเจอภัยคุกคาม
Observability – เสมือนมีผู้ช่วยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวและติดตามหาหลักฐานของผู้โจมตีเพื่อป้องกันการถูกโจมตีทางไซเบอร์
Orchestrator – ตัวช่วยในการเชื่อมต่อและควบคุมการทำงานของ Software ที่มีความหลากหลายให้ทำงานเชื่อมต่อกันอย่างอัตโนมัติ ช่วยให้องค์กรสามารถกำกับและมองภาพรวมที่สามารถเปิด-ปิดการป้องกันภัยคุกคามได้อย่างง่ายดาย
Optimization – ยกระดับความปลอดภัยให้ทุกองค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ทำงานได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่บานปลาย
“กลยุทธ์โซลูชัน O3 เริ่มจากพื้นฐานประสบการณ์ของ MFEC และพันธมิตรคู่ค้าที่แข็งแกร่งกว่า 40 ราย ผนวกกับข้อมูลปัญหาและโซลูชันจากลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร โทรคมนาคม ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เป็นต้น นำมาบูรณาการและวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง” คุณดำรงศักดิ์ รีตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าว
ในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีด้านซีเคียวริตี้เป็นตัวสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหลายกลุ่มธุรกิจ เช่นกลุ่มธนาคาร และพลังงาน หรือ Cloud Security Solutions ที่มีแนวโน้มในการใช้งานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกอุตสาหกรรม รวมไปถึงการลงทุนทางด้านระบบรักษาความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน (Operational Security) และ AI with Cybersecurity, Automation, API Security และ Cloud Security Posture Management (CSPM) ในระบบคลาวด์อาจเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีและการปกป้องทรัพย์สินทางไซเบอร์คือสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง
MFEC ในฐานะผู้นำตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับ Top 3 ของประเทศไทยวางแผนที่จะต่อยอดธุรกิจผ่านการพัฒนาบุคคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ วิเคราะห์ระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และเสริมสร้างฐานพันธมิตรคู่ค้า World Class Cyber Security Partner โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2566 ภาพรวมธุรกิจ MFEC จะมีรายได้เติบโตเกิน 15% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้ 5,453 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประมาณ 25%