[เขียนมาตรวจกลับ] ปัจจุบันเริ่มมีงานที่สร้างจาก AI มากขึ้นเรื่อย ๆ หากเป็นเชิงสร้างสรรค์อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเป็นงานที่ต้องใช้ความแม่นยำและเชื่อถือได้นั้น จุดนี้คงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ล่าสุดพบเครื่องมือใหม่ ช่วยระบุบทความด้านวิทยาศาสตร์ที่ถูกเขียนโดย AI ได้แม่นยำถึง 99%
ที่ผ่านมา ChatGPT ถูกนำไปใช้เขียนบทความด้านวิชาการอยู่ไม่น้อย ถึงขั้นมีนักศึกษาใช้ให้ช่วยทำการบ้าน (จนโดนจับได้) หรือเขียนว่าความสำหรับทนายก็มีมาแล้ว (และโดนลงโทษเรียบร้อย) กับยังมีอีกหลาย ๆ กรณี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีการใช้ AI มาช่วยเขียนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้วย
เหตุนี้เอง เหล่านักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคนซัส (University of Kansas) จึงร่วมมือกันพัฒนาเครื่องมือพิเศษ ที่สามารถแยกงานเขียนทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นมนุษย์หรือ AI เขียนได้ โดยมีความแม่นยำถึง 99% โดยดูจากการย่อหน้า ทัศนคติ และรูปแบบการเขียนแบบเฉพาะ
ทางนักวิทยาศาสตร์ระบุเลยว่า มนุษย์มักจะมีการใช้คำศัพท์ที่ดูสะสวยกว่า กับมีการใช้ย่อหน้าและเครื่องหมายต่าง ๆ ที่หลากหลายกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเครื่องมือจะมีความแม่นยำสูงก็จริง แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป จำเป็นต้องมีการวิจัยอีกเพิ่มเติม จนวันหนึ่งสามารถแยกงานเขียนหรือบทความแนวอื่น ๆ นอกจากแนววิทยาศาสตร์ได้
ก็นับเป็นการแก้ปัญหาการใช้ AI ในทางที่ผิดที่น่าจับตามองไม่น้อย ทั้งนี้นอกจากบทความที่เขียนโดย AI แล้ว ก็ยังมีรูปภาพปลอมที่สร้างจาก AI ด้วย จุดนี้ก็เริ่มมีเครื่องมือมาช่วยตรวจเช็คด้วยเหมือนกัน และอาจมีอีกหลากหลายเครื่องมือในอนาคตตามมา
ที่มา : Techspot