2 วันที่ผ่านมานี้ คิดว่าคนไทยเกือบค่อนประเทศน่าจะได้รู้จักน้องล่า “เหนียวไก่” กันไปแล้ว สำหรับใครที่ยังงงๆว่า “เหนียวไก่” คืออะไร แนะนำให้ search ใน Google กันได้ตามสะดวก เพราะวันนี้เราคงไม่ได้จะมาเขียนข่าวรายงานความคืบหน้าของ “เหนียวไก่” ที่หายไป แต่จะขอเขียนถึงปรากฎการณ์นี้ว่าสะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมไทยเราบ้าง
ส่วนตัวสมิตเองก็ได้ติดตามข่าวคราวเหนียวไก่หายอยู่ห่างๆ ไม่ได้ลงลึกอะไรมาก เพราะคิดว่าข่าวการลักขโมยข้าวเหนียวไก่ไม่น่าจะต้องมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎีอันซับซ้อนใดๆให้ต้องตามอ่านเรื่องราวแบบเจาะลึก และก็ไม่คิดว่าข่าวการลักขโมยข้าวเหนียวไก่จะมีนัยสำคัญอันใดแก่ชีวิต!! แค่ติดตามบ้างผ่านๆตาพอให้เราไม่ตกกระแสก็น่าจะเพียงพอ … แต่พอสื่อหลายสำนักทั้งในอินเตอร์เน็ทและสื่อวิทยุ-โทรทัศน์พากันโหมกระหน่ำทำข่าวคราวน้องล่า-เหนียวไก่ ราวกับเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งรีบแก้ไขแล้ว ..สมิตเลยอดไม่ได้ที่จะต้องหยุดมาย้อนคิดพิจารณาถึงปรากฎการณ์ครั้งนี้กันสักหน่อย
ในขณะที่มีคนไทยจำนวนมากที่กำลังสนุกสนานกับการติดตามข่าวเหนียวไก่นี้ มันก็มีคนอีกไม่น้อยทีเดียวที่เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์สื่อไทยว่าเพราะเหตุใดถึงได้แห่กันนำเสนอข่าวที่ไม่ค่อยมีสาระ (พูดให้ตรงกว่านี้ก็คือเป็นข่าว “ไร้สาระ” นั่นเอง) แทนที่จะไปนำเสนอข่าวสำคัญอื่นๆแทน … ในฐานะของตัวสมิตเองก็จัดว่าคลุกคลีอยู่ในวงการสื่อมาบ้างพอสมควร อยากจะบอกว่าการที่สื่อต่างๆนำเสนอข่าวเหนียวไก่ราวกับเป็นข่าวด่วนข่าวใหญ่ที่ทุกคนต้องทราบซึ้งให้ถึงแก่นแท้ว่า “ปรากฎการณ์นี้มันไม่ใช่ความผิดของสื่อเพียงฝ่ายเดียว และไม่ใช่เรื่องแปลกน่าตกใจอะไรในสังคมไทยเลยค่ะ” (แม้จะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอยู่นิดๆก็เถอะ)
หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ สื่อไทยเพียงแค่ผลิตข่าวที่มีคนอ่านมากๆ ตอบสนองความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่เท่านั้นเอง …คงปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของวงการสื่อในประเทศไทยเรานี้ ทำให้สื่อทุกสำนักต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแย่งเอา “เรตติ้ง” มาจากคนดูให้ได้มากที่สุดเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นอะไรที่มันอยู่ในกระแส “มันขายได้” มันมี Demand สื่อทั้งหลายก็ต้องพยายามจะแย่งกันผลิตข่าวป้อนให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ หากข่าวมันไม่มีคนสนใจเลย นักข่าวก็คงไม่ไปทำข่าวให้เหนื่อย เพราะไม่มีความต้องการ ก็ไม่รู้จะผลิตไปให้ใคร
หากมองในแง่ธุรกิจแล้ว ..ไม่แปลกอะไรเลยที่สื่อไทยจะพากันเสนอข่าวนี้ เพราะทำไปตามหลัก Demand-Supply เมื่อมีความต้องการ มีความสนใจในเรื่องนี้กันมาก สื่อก็ต้องผลิตข่าวเพื่อป้อนให้กับตลาด ดังนั้นก่อนที่จะโทษสื่อว่าทำข่าวงี่เง่าไร้สาระ เราอาจต้องพยายามยอมรับให้ได้ก่อนว่า “นี่คือความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่” (สำหรับคนที่ยังทำใจรับไม่ได้ ให้ยอมรับจุดนี้ให้ได้ก่อนค่ะว่าคุณเป็น “เสียงส่วนน้อย” หรือ “เสียงที่ไม่ได้ยิน” ในสังคมไทยวันนี้) ..แน่นอนว่าสื่อก็ไม่ควรคิดแต่จะทำข่าวที่ “ขายได้” อย่างเดียวโดยไม่สนใจว่าเนื้อหาข่าวจะเป็นเช่นไร แต่การด่าสื่ออย่างเดียวโดยไม่มีคำแนะนำหรือพยายามช่วยกันแก้ไขแต่อย่างใด กลับอาจจะยิ่งกลายเป็นการสนับสนุนให้สื่อหันมาทำข่าวประเภทนี้กันมากขึ้น เพราะในฐานะของคนทำสื่อ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่การที่โดนคนด่าแรงๆ แต่คือการที่ไม่มีใครพูดถึงต่างหาก บางครั้งยิ่งโดนคนด่าเท่าไหร่ สำนักข่าวกลับยิ้มอยู่ในใจ เพราะนั่นแสดงให้เห็นแล้วว่าอย่างน้อยที่สุดคุณก็ให้ความสนใจข่าวนั้นๆ
การที่คุณแชร์คลิปข่าวนี้ หรือแชร์เนื้อหาข่าว พร้อมกับการด่าสื่อแรงๆเพื่อความสะใจส่วนตัวนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ช่วยให้สังคมไทยเปลี่ยนไปได้เลย กลับเป็นการช่วยส่งเสริมการเผยแพร่ข่าวเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำ สิ่งที่เราควรจะสนใจมากกว่าไม่ใช่การด่าอย่างเดียว แต่น่าจะกลับมาย้อนคิดว่า “วันนี้เราควรทำอะไรเพื่อให้สื่อเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่หันมาเสพสิ่งที่มีสาระกันมากขึ้น” เสียมากกว่า …ปรากฎการณ์นี้อาจไม่มีใครผิดใครถูกแน่ชัด แท้จริงแล้ว พวกเราทุกคนอาจจะผิดเหมือนๆกัน เราต่างตกเป็นทาสการตลาดของสื่อเหมือนๆกัน สื่อต่างหลงอยู่กับการทำตัวเป็นองค์กรธุรกิจที่มุ่งหากำไรสูงสุดเหมือนๆกัน จนลืมไปแล้วว่าหน้าที่ของสื่อคืออะไร?
… วันนี้คุณได้อะไรจากปรากฎการณ์เหนียวไก่?