- ออกแคมเปญกระตุ้นการจับจ่ายบนอีคอมเมิร์ซตอบรับไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายยุคเว้นระยะห่าง (Social Distancing)พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจยุคใหม่ด้วยการเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศน์การชำระเงินแบบดิจิทัลร่วมกับวีซ่าอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารกสิกรไทย เผยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผลักดันให้ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2564 พบว่ากว่า 21 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยมีการใช้จ่ายบนช่องทางออนไลน์และมีมูลค่าการใช้จ่ายบนช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 24 เปอร์เซ็นต์
การเติบโตในครั้งนี้เกิดจากการปรับตัวอย่างรวดเร็วของธนาคารกสิกรในการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมร่วมทำงานกับ วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ในการเสริมความปลอดภัยในการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลตลอดจนการนำโซลูชั่นด้านการชำระเงินดิจิทัลใหม่ ๆ เข้ามาให้บริการแก่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มองหาความสะดวกและรวดเร็วในการชำระเงินดิจิทัล รวมถึงการลดการใช้เงินสด เช่น การแตะเพื่อจ่ายด้วยบัตรวีซ่า
นางชลารัตน์ พินิจเบญจพล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “สถานการณ์โควิด-19 ผลักดันให้ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยช่วงต้นปีเติบโตขึ้นกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ การจับจ่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดิจิทัล เพย์เมนต์ ได้กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่าง และลดการจับเงินสด ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้พัฒนาในด้านการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของเราในการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล โดยร่วมกับวีซ่าในการติดตั้งโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อเสริมความปลอดภัยและมอบประสบการณ์ที่ดีในการจับจ่ายใช้สอยแก่ลูกค้าบัตรเครดิตกสิกรไทย”
“ธนาคารมีความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้จ่ายบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยได้ร่วมมือกับผู้นำการให้บริการด้านการชำระเงินดิจิทัลอย่าง วีซ่า ที่ให้คำแนะนำและร่วมกับธนาคารในการหาแนวทางและนำเสนอโซลูชั่นที่เหมาะสมมาใช้ ธนาคารเชื่อมั่นว่า จะสามารถพัฒนาและต่อยอดการให้บริการด้านการเงินที่มอบประสบการณ์การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สะดวกและปลอดภัยได้ในทุกที่ ทุกเวลาที่ลูกค้าต้องการใช้”
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โควิด-19 เร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงรูปแบบการค้า และการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล จากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของ วีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study)[1] ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยมองหาช่องทางใหม่ ๆ ในการช้อปปิ้ง โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกช้อปผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ (65 เปอร์เซ็นต์) และช้อปผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (44 เปอร์เซ็นต์) ดังนั้นระบบนิเวศน์การชำระเงินจำเป็นต้องเสริมโครงสร้างพื้นฐานเดิมด้วยโซลูชั่นบริหารจัดการการฉ้อโกงที่ทันสมัยและเชื่อถือได้ โดยในโลกที่ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ความปลอดภัยในการชำระเงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภค และต้องกลายเป็นรากฐานในการดำเนินธุรกิจ การค้าทั้งในวันนี้และวันหน้า”
โซลูชั่นที่ธนาคารกสิกรไทยและวีซ่า ได้ทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางและนำมาปรับใช้ในการนำเสนอให้แก่ผู้บริโภค ที่นอกจากจะเสริมความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกทำธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ยังเป็นการมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในการซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังชำระเงินเสร็จสิ้นแล้ว อาทิ One Time Password (OTP) ที่หลายคนคุ้นเคย โดยเป็นการยืนยันพาสเวิร์ดแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งลูกค้าจะได้รับผ่านทางข้อความในโทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันถึงการทำธุรกรรมนั้น ๆ ตลอดจนการเพิ่มเกราะป้องกันการฉ้อโกงด้วยบริการโทเค็นของวีซ่า (Visa Token Service หรือ VTS) โซลูชั่นที่ทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถประมวลผลการชำระเงินได้โดยไม่ต้องเปิดเผยรายละเอียดบัญชีจริง โดยระบบจะทำหน้าที่เปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของบัญชี และรายละเอียดของบัญชีเป็นรหัสโทเค็นแบบสุ่ม เพื่อลดคุณค่าของข้อมูลและทำให้นักต้มตุ๋นนำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้
และล่าสุดกับโซลูชั่นที่วีซ่าได้นำเสนออย่าง วีซ่า ซีเคียว (Visa Secure) โซลูชั่นที่ให้ความสำคัญเท่ากันทั้งเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกของผู้บริโภคด้วยระบบป้องกันความปลอดภัยในระดับชั้นเพิ่มเติมประเภท 3-D Secure ระบบตัวใหม่ล่าสุดของโปรโตคอล 3DS มาตรฐานล่าสุดของ EMV®[2] ที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันการฉ้อโกงอีกหนึ่งชั้นเพื่อช่วยให้ธนาคารกสิกรไทยและร้านค้ามั่นใจได้ว่าการทำธุรกรรมนั้น ๆ เกิดขึ้นจริง โซลูชั่นนี้นอกจากจะช่วยให้ผู้ขายไม่สูญเสียยอดขายอันเป็นผลจากการที่การชำระเงินถูกปฏิเสธ ยังช่วยยกระดับประสบการณ์การจับจ่ายในภาพรวมให้ลูกค้าได้อีกด้วย
นอกจากการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและการเสริมความปลอดภัยในระบบการชำระเงินดิจิทัล ธนาคารกสิกรไทยยังได้ให้ความสำคัญในการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยที่มีกว่า 3.2 ล้านใบทั่วประเทศได้ออกมาใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น ล่าสุดในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาได้มีการจัดแคมเปญ “โค้ดลั่นมันส์เดย์” ร่วมกับวีซ่าด้วยการแจกโค้ดส่วนลดสุดพิเศษทุกวันจันทร์
สำหรับกิจกรรมการตลาดในครึ่งปีหลังนี้ บัตรเครดิตกสิกรไทย ยังคงมุ่งเน้นในการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ชื่นชอบการช้อปออนไลน์มากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มคะแนนสะสมจากหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศหรือการช้อปออนไลน์จากต่างประเทศ ไปจนถึงโปรโมชั่นการแลกคะแนนสะสม การรับส่วนลด หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ การเลือกผ่อนชำระสินค้า 0 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาพรวมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทยในห้าเดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้จ่ายรวมกว่า 132,000 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ 27,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ และช่องทางร้านค้าปกติเติบโตขึ้นอีก 14 เปอร์เซ็นต์
[1] การศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2563 ของวีซ่า ซึ่งจัดทำโดย CLEAR ในนามของวีซ่าเมื่อเดือนกันยายน 2563 ในแปดประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,500 คน รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวน 1,000 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท
[2] EMV® เป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ และไม่ได้จดทะเบียนในที่อื่น โดยเครื่องหมายการค้า EMV นี้เป็นของบริษัท EMVCo, LLC.