ส่องผลงานคนไทย สจล. เปิดบ้านโชว์นวัตกรรม หุ่นยนต์ – AI ดูแลสุขภาพ

AI ดูแลสุขภาพ
คณะวิศวกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดงาน  K-Engineering World Tour & Workshop 2022 เผยนวัตกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาโดยคณาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น  โดยมีทั้ง นวัตกรรมไฟฟ้า พลังงานและ IoT กลุ่มนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และกลุ่มนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรม ซึ่งจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ไปดูกันครับ
.
+ เครื่องฟังเสียงตรวจแบบดิจิทัล : เป็นอุปกรณ์เหมือนกับเครื่องช่วยฟังทางการแพทย์ที่หมอมักพกติดตัวอยู่ตลอดเวลาครับ แต่มาพร้อมระบบวิเคราะห์โรคและความผิดปกติเบื้องต้นด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบแพทย์ทางไกล (Telehealth) ได้
.
+  ตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติ (Drug Dispensing Machine) : เทคโนโลยีนี้คิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยลดขั้นตอนการจ่ายยาที่เดิมต้องเข้าคิวรับที่เคาน์เตอร์จำหน่ายยา เปลี่ยนการให้บริการมาเป็นการรับที่ตู้จำหน่ายยาแทน พร้อมกับลดขั้นตอนการอธิบายวิธีใช้ยา โดยให้ผู้รับยา สามารถใช้แอปพลิเคชันในการแสกนซองยาเพื่อดูวิธีการใช้ยาตามที่แพทย์สั่งได้ด้วย
.
ขั้นตอนการใช้งานคือ ผู้ใช้จะได้ รับ QR Code จากหมอหรือเจ้าที่โรงพยาบาล จากนั้นสามารถเอา QR Code ไปสแกนที่หน้าตู้ และทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เช่น จ่ายเงิน สแกนจ่ายเงิน และกดยืนยัน จากนั้น ตู้จำหน่ายยาจะติดต่อระบบแม่ข่ายเพื่อตรวจสอบยาที่สั่งจ่ายตามใบสั่งยานั้น และนำจ่ายยาให้เราครับ  โดยบนซองยา จะมี QR Code ให้เราสแกนเพื่อดูวิธีใช้ยาได้ทุกเมื่อ
.
+ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ RAIBO – X :  หุ่นยนต์นี้ เป็นหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ฆ่าเชื้อ Covid-19 ภายในโรงพยาบาล โดยสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ด้วยแสง UV-C ในรัศมี 1 – 1.5 เมตร ทำงานได้ต่อเนื่อง 12 ชม. ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคขนาดเล็ก อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ได้ถึง 99.99%
.
การใช้งานด้วยระบบ AI ทำให้สามารถควบคุมระยะไกลผ่านรีโมทคอนโทรล เพื่อความปลอดภัยของผู้ควบคุม และทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างละเอียด ควบคุมได้ง่ายและปลอดภัย
.
+ เสาไฟ Smart City : จากแนวคิดที่ประเทศไทยต้องการจะสร้าง Smart City เมืองอัจฉริยะที่จะมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาบริหารจัดการเมือง เพื่อช่วยเรื่องของการจราจร ความปลอดภัย และการควบคุมมลพิษให้ดีขึ้น แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องอาศัยการเก็บข้อมูลปริมาณมหาศาล จึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้างเสาไฟอัจฉริยะที่มาพร้อมเซนเซอร์ช่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศ ตรวจจับความหนาแน่นและแยกประเภทยานพาหนะบนท้องถนนได้แบบเรียลไทม์
.
ข้อมูลที่ได้จะเก็บเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่ (Big Data) แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารพื้นที่ทางกายภาพในอนาคต และเสาไฟดังกล่าว ยังสามารถต่อเติมเซนเซอร์อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ เพื่อให้มีตัวเลือกการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นครับ
.
+ รถไฟไทยทำ : รถไฟนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการยกระดับความสะดวกสบายในการเดินทางโดยรถไฟ เป็นหนึ่งในโครงการ“ไทยเฟิร์ส” ที่ต้องการจะลดการนำเข้าเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด
.
ตู้รถไฟดังกล่าวเป็นตู้รถไฟโดยสาร 25 ที่นั่ง ใช้โมเดลการแบ่งการให้บริการแบบเครื่องบิน ซึ่งประกอบด้วยความหรูหรา 2 ระดับคือ Super Luxury Class และ Luxury Class โดยโครงสร้างตัวรถและองค์ประกอบหลักได้จัดทำแล้วเสร็จ และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานระดับสากลแล้ว และภายในตัวรถไฟมีนวัตกรรมมากมาย อาทิ ระบบฟอกอากาศภายในตัวรถ และระบบ Smart Infotainment ในรถเป็นต้น
และทั้งหมดนี้คือผลงานที่ได้จัดแสดงในงาน K-Engineering World Tour & Workshop 2022 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของคณาจารย์ บุคลากรทุกฝ่าย รวมทั้งนักศึกษา ที่มีแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมที่บูรณาการองค์ความรู้หลายด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปศาสตร์ และศาสตร์หลายแขนง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ได้มากขึ้น