โบรกเกอร์ชี้ “จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ JAS มีความเสี่ยงสูงที่จะคืนใบอนุญาต 4G คลื่น 900MHz หลัง BBL ไม่ยอมปล่อยกู้รายเดียว แถมบีบให้บริษัทเพิ่มทุนก่อนออกแบงก์การันตี เข้าทาง 3 ค่ายมือถือเจ้าตลาด หลังการแข่งขันส่อไม่รุนแรง แถมมีโอกาสได้ใบอนุญาตราคาถูก กูรูจ่อปรับขึ้นราคาเป้าหมาย ADVANC ทันที เป็น 185 บาท DTAC ขึ้นเป็น 43 บาท ด้านวงการมอง”พิชญ์ โพธารามิก” อาจต้องหาเงินส่วนตัว 1 หมื่นลบ. เพิ่มทุนให้ JAS
สถานการณ์ทางธุรกิจล่าสุดของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS กำลังอยู่ในจุดชี้เป็นชี้ตายอีกครั้ง หลังแผนการหาเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาต 4G คลื่น 900MHz ไม่ราบรื่นเสียแล้ว หลังมีแหล่งข่าวจาก ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ระบุว่า จะไม่ปล่อยกู้เพียงรายเดียวเต็มจำนวนเว้นแต่ว่า JAS จะยอมเพิ่มทุนให้ฐานะการเงินดีกว่านี้ก่อน ซึ่งขัดกับแผนธุรกิจที่นายพิชญ์ โพธารามิก เคยวางไว้ก่อนหน้านี้
**เสี่ยงไม่สามารถชำระค่าคลื่นได้ก่อนเส้นตาย 21 มี.ค.
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า JAS มีโอกาสสูงที่จะคืนใบอนุญาต 4G ย่าน 900 MHz ให้กับ กสทช. เพราะความเป็นไปได้ที่จะได้รับแบงก์การันตีค่อนข้างน้อย อีกทั้งขณะนี้ยังไม่ประกาศพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นผลจากค่าใบอนุญาตที่สูงมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท
“ถ้าหากJAS ไม่นำเงินประมูลงวดแรก 8,040 ล้านบาทและหนังสือค้ำประกันทางการเงินจากธนาคารมาจ่ายภายในกำหนดคือวันที่ 21 มี.ค.ก็จะถูกริบหลักประกัน 644 ล้านบาทและต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการประมูล 4G และอาจเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในใบอนุญาตประกอบการที่ได้รับจากกสทช.ที่ใช้ทำธุรกิจในปัจจุบันด้วย” บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม ในกรณีผิดคาดหาก JAS หาเงินมาได้ทันกำหนด คาดว่า JAS จะประสบความยากลำบากในการทำธุรกิจ เพราะอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) มีเพียง 2.3% ใน 3 ปี หากทำธุรกิจมือถือ แม้ว่าจะมีสมมุติฐานแง่ดีในประมาณการแล้วก็ตาม
ปัจจุบัน JAS มีรายได้ต่ำกว่า 14 พันล้านบาท สินทรัยพ์รวมต่ำกว่า 51 พันล้านบาท ในงวดปี 58
**หุ้น ADVANC & DTAC กลับมาน่าสนใจ
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ยังระบุต่ออีกว่า หุ้น ADVANCและ DTAC กลับมาน่าสนใจ เมื่อ JAS เข้าสู่ธุรกิจมือถือไม่สำเร็จ สำหรับ ADVANC มีสมมุติฐานว่าเมื่อ JASไม่สามารถนำเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาต 900 MHz ที่ 75 พันล้านบาท และบริษัทมีการเช่าเสาโทรคมนาคมจาก ทีโอทีปีละ 10 พันล้านบาท จึงได้ปรับ Terminal Growth เป็น 2% จากเดิม 0% จะได้ราคาพื้นฐานใหม่เป็น 185.00 บาท ผนวกกับคาดการณ์อัตราผลตอบแทนปันผลปี 59 ที่ดีคือ 7.3% ส่วน DTAC ก็มีสมมุติฐานเช่นเดียวกับ ADVANC ได้ราคาพื้นฐานใหม่ที่ 43.00 บาท และคาดการณ์อัตราผลตอบแทนปันผลปี 59 ที่สูงมากถึง 10%
ขณะที่ ADVANC ก็มีแนวโน้มจะให้ความสนใจ หากมีการประมูลใหม่แต่ราคาประมูลไม่ควรจะสูงเท่าครั้งก่อน พร้อมกันนี้ มีรายงานระบุว่า TRUE ได้มีการศึกษากับ กสทช.ว่าในกรณีราคาประมูลใหม่ต่ำกว่าราคาที่ TRUE ได้คือ 76.3 พันล้านบาท TRUE ควรจะได้รับคืนส่วนต่าง แต่หากไม่ได้ ก็อาจจะมีการฟ้องร้อง กสทช.ตามมา
**จำเป็นต้องเพิ่มทุน ภายใต้ความเสียเปรียบ
บทวิเคราะห์ บล.เอเชีย พลัส ระบุว่า JAS มีแนวโน้มเพิ่มทุน เพราะการเข้าสู่ธุรกิจมือถือครั้งนี้เสียเปรียบ Operator 3 รายเดิมแทบทุกด้าน จากการแย่งชิงลูกค้า โครงข่ายให้บริการที่ต้องลงทุนใหม่ ยังไม่รวมถึงค่าประมูลคลื่น 900 MHz ที่มีมูลค่าสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ช่องทางในการระดมทุนของ JAS ในเบื้องต้นน่าจะมาจากการใช้เงินสดที่เหลือจากการตั้งกองทุน JASIF ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะนำไปเพิ่มทุนจดทะเบียน บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ (JMBB) บริษัทย่อย เป็น 5.0 พันล้านบาท (จากปัจจุบัน 350 ล้านบาท) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ที่ JMBB ต้องจ่ายงวดแรก ที่ 8.04 พันล้านบาท
ส่วนที่เหลือ 3.04 พันล้านบาท คาดว่าจะมาจากการก่อหนี้ก่อน ขณะที่การจ่ายค่าใบอนุญาตที่เหลือ 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด คือ งวดละ 4.02 พันล้านบาทเท่าๆกันในปีที่ 2 และ 3 ภายหลังชำระค่าประมูลงวดแรก ส่วนงวดสุดท้าย คือ มูลค่าคลื่นส่วนที่เหลือจากที่ชำระไปแล้วใน 3 งวดแรก
โดยในกรณีของ JAS จะชำระงวดสุดท้ายที่ 5.95 หมื่นล้านบาท) JAS กำหนดทางเลือกแหล่งเงินทุนไว้ 4 ทาง เช่น การนำบริษัทย่อย JMBB เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, การขายหุ้นเพิ่มทุน JMBB ให้กับพันธมิตรต่างประเทศ, การระดมทุนโดยนำสินทรัพย์โทรคมนาคมที่ลงทุนเพิ่มขายให้กับ JASIF รวมทั้งเงินทุนจากการแปลงสภาพ JAS-W3 ซึ่งหากแปลงสภาพทั้งหมด JAS จะได้เงินทุนเข้ามาทั้งสิ้นราว 1.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมีโอกาสการแปลงสภาพ น้อยเพราะราคาหุ้นที่ต่ำกว่าราคาแปลงสภาพค่อนข้างมาก ซึ่งในแต่ละทางเลือกนั้น ณ ขณะนี้ยังคงไม่มีความชัดเจน หรือ ไม่สามารถระดมเงินทุนเข้ามาได้ในระยะเวลาอันจำกัด
ในส่วนของฐานลูกค้านั้น อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าให้มีลูกค้าอินเตอร์เน็ตเดิมราว 30% ใช้งานบริการมือถือของ JAS โดยเสนอราคาถูก บวกกับการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า เบื้องต้นคาดว่าจะมี ARPU เฉลี่ย 500 บาทต่อเดือน ซึ่งโดยภาพรวม พอจะประเมินได้ว่า ต้นทุนใบอนุญาต กับส่วนแบ่งรายได้เฉลี่ย 5 ปีของ JAS จะสูงถึง 110% ของรายได้ ภายใต้สมมติฐานให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 ล้านราย เท่ากับลูกค้าที่ใช้อินเตอร์เน็ต ภายในปีที่ 5 ซึ่งอาจทำให้ JAS ต้องเผชิญภาวะขาดทุนไปอีกหลายปี
**กสทช.ขู่ ถ้าไม่จ่ายต้องออกจากวงการโทรคมนาคม
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับว่า แม้จะยังไม่ได้รับการติดต่อจาก JAS เพื่อชำระค่าใบอนุญาต อีกทั้งมีกระแสข้อกังวลเกี่ยวกับแหล่งเงินเพื่อจะมาชำระเงิน แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าสุดท้าย JAS จะชำระค่าใบอนุญาต 4G อย่างแน่นอน เพราะหาก JAS ไม่ชำระค่าใบอนุญาตก็จะมีผลกระทบต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ต 3BB เพราะเป็นบริษัทเดียวกัน
JAS มาถึงจุดที่ต้องเลือกว่า จะเพิ่มทุน หรือจะออกจากธุรกิจโทรคมนาคมไทยไปเลย ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เว้นแต่ BBL จะใจดีปล่อยกู้เต็มจำนวนโดยไม่มีเงื่อนไข ถ้ายอมเพิ่มทุนเท่ากับว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ นำโดย พิชญ์ โพธารามิก จะต้องเร่งระดมเงินส่วนตัวก้อนโตหลักหมื่นล้านมาสำรองไว้
ทั้งนี้ผลกระทบหาก JAS จ่ายเงินไม่ทันเวลาคือ จะถูกยึดเงินประกัน 644 ล้านบาท อีกทั้งจะขาดคุณสมบัติประกอบกิจการธุรกิจโทรคมนาคม
**วงการมอง”พิชญ์ โพธารามิก” อาจต้องหาเงินส่วนตัว 1 หมื่นลบ. เพิ่มทุนให้ JAS
JAS มาถึงจุดที่ต้องเลือกว่า จะเพิ่มทุน หรือจะออกจากธุรกิจโทรคมนาคมไทยไปเลย ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เว้นแต่ BBL จะใจดีปล่อยกู้เต็มจำนวนโดยไม่มีเงื่อนไข ถ้ายอมเพิ่มทุนเท่ากับว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ นำโดย พิชญ์ โพธารามิก จะต้องเร่งระดมเงินส่วนตัวก้อนโตหลักหมื่นล้านมาสำรองไว้
บนสมมุติฐานว่า ธนาคารใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการปล่อยกู้ให้ TRUE คือหนี้สินต่อ EBITDA ต้องไม่เกิน 2 เท่า ซึ่งปัจจุบัน JAS มีภาระหนี้อยู่แล้วราว 1.5 หมื่นล้านบาท
เท่ากับว่าที่ดีสุด JAS จะได้เงินกู้วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท นั่นหมายถึง JAS ต้องใช้เงินตัวเองอีก 5 หมื่นล้านบาท แต่ในงบการเงินล่าสุด JAS มีเงินสดในมือราว 6,300 ล้านบาท จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเพิ่มทุนอีกไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท
แม้นายพิชญ์ โพธารามิก จะถูกจัดอันดับจาก นิตยสารฟอร์บส ไทยแลนด์ ให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 36 ของประเทศเมื่อกลางปี 58 ด้วยระดับความมั่งคั่ง 2.18 หมื่นล้านบาท แต่ในปัจจุบันราคาหุ้นในมือทั้ง JAS MONO และ JASIF ปรับลดลง ทำให้ความมั่งคั่งของ “พิชญ์” ณ ราคาหุ้นล่าสุดเหลือเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่า “พิชญ์” ถือหุ้นใหญ่ใน 3 บริษัท ดังนี้
1. บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS จำนวน 1,844 ล้านหุ้น หรือ 25.85%
2. บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO จำนวน 2,217 ล้านหุ้น หรือ 71.99%
3. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน JASIF จำนวน 225 ล้านหุ้น หรือ 4.09%
หาก “พิชญ์” ขายหุ้นทั้งหมดที่ตัวเองถืออยู่ออกมาที่ราคาปัจจุบัน จะมีมูลค่าราว 1.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นการต้องหาเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทมาเพิ่มทุนใน JAS จึงถือว่าเป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.efinancethai.com
*** อัพเดทข้อมูลล่าสุด กสทช. ออกมายืนยันว่า JAS พร้อมจ่ายเงินค่าประมูล 4G คลื่น 900MHz เช่นเดียวกับ TRUE หลังมีข่าวลือว่าบางบริษัทไม่พร้อมจ่ายเงินค่าประมูล