Techhub insight พาไปดูการใช้งานอุปกรณ์ IOT ที่ช่วยเก็บข้อมูล แจ้งเตือน น้ำท่วม และฝุ่นมลพิษได้จริง ในพื้นที่จริงป่าต้นน้ำ ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เห็นความสำเร็จของโทรมาตร ระบบติดตามสภาพอากาศอัตโนมัติ จึงได้เริ่มต้นทำโครงการนำร่อง ติดตั้งอุปกรณ์วัดค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อให้ทราบสถานการณ์และวางแผนจัดการน้ำและอากาศได้ดีขึ้น
ข้อมูลหลักๆ ที่ได้จากการคำนวนของโทรมาตรคือปริมาณน้ำจากป่าต้นน้ำ ความเร็วของน้ำ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณฝุ่น PM 2.5 และค่าอุณหภูมิแบบเรียลไทม์ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่นำไปวางแผนเตือนภัยแจ้งเตือนประชาชนโดยไม่ต้องอาศัยกำลังคนจำนวนมากในการดูแล
ปัญญารัตน์ ปัญญาเกียรติสิริ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมามลพิษทางอากาศเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของภาคเหนือ เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างหมอกควันที่เกิดจากการเผาเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นทีทางการเกษตร และความกดอากาศต่ำที่มาจากประเทศทางใกล้เคียง ทำให้ฝุ่นละอองถูกกดอยู่ในพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ทำให้หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นปัญหาจะสะสมยาวนานมาก
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่ช่วยจับ PM 2.5 โดยข้อมูลที่ได้จากโทรมาตรจะถูกนำไปใช้ช่วยวางแผนจัดการในพื้นที่ไหน กำหนดช่วงเวลาเผาในโซนชุมชน วางแผนเตือนภัยแจ้งเตือนประชาชนหากปริมาณน้ำฝนที่สูงเกิน 60 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันการพังทลายของดินโดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ร่วมกับข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ยอมรับว่า ที่ผ่านมาอุปกรณ์ IOT เข้ามามีส่วนช่วยเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชนห่างไกลแทนคนได้ โดยข้อมูลที่ได้จะถูกเก็บในคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ที่มี High Performance Computer (HPC) ช่วยประมวลผล สร้างเป็น 10 ระบบในการคาดการณ์ ที่รันโมเดลอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น ส่งตรงกับหน่วยราชการท้องถิ่น และประชาชนได้ข้อมูลเท่าเทียมกัน เป็นประโยชน์มากในแง่ของความโปร่งใส และบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ
“ข้อมูลช่วยให้ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีระบบที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ 3-7 วัน ผ่านเว็บไซต์ thaiwater.net ทำให้เกิดการตัดสินใจในระดับท้องถิ่น การดูแลในระดับพื้นที่ ควรจะลดการใช้น้ำลง หรือว่าน้ำปีนี้มีเพียงพอแล้วในการขยายการเพาะปลูก”
ล่าสุด สสน. ได้ติดตั้งอุปกรณ์วัด PM2.5 ในพื้นที่กรมป่าไม้ และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกับโทรมาตรเพิ่มเติม โดยอาศัยบันทึกความร่วมมือ 7 หน่วยงาน ทำให้มีข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมาให้หน่วยงานรัฐ และประชาชนได้ใช้ประกอบการบริหารจัดการสภาพอากาศได้ดีครับ
ดร.สุทัศน์ บอกว่า เคล็ดลับในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำคือ ความเอาใจใส่ดูแลตามวงรอบของการเปลี่ยนอุปกรณ์ ผ่านระบบ IOT ที่มีการสื่อสาร 2 ทิศทาง ทำให้เห็นอาการผิดปกติชัดเจน และสามารถปรับวิธีแก้ปัญหาได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดูแลโทรมาตรที่มีมากถึง 900 สถานีทั่วประเทศได้ โดยใช้คนดูแลเพียง 7 คน
เป้าหมายในอนาคตคือการพัฒนาเทคโนโลยีเก็บข้อมูลสภาพอากาศ และปริมาณน้ำฝนในอนาคต โดยนำ AI เข้ามาเริ่มใช้วิเคราะห์เพื่อช่วยจัดการข้อมูล เพิ่มความแม่นยำ และทำงานแทนคนได้มากขึ้น
#TechhubInsight #IOT #สสน #ThaiWater #คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ #สสน