อินเทล มุ่งเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมแก่เยาวชนไทย ผ่านโครงการ Innovation Space

บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทริปนำสื่อมวลชนด้านไอทีเข้าสังเกตการณ์การอบรมเชิงปฎิบัติการแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาในโครงการ Innovation Space ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ซึ่งโครงการนี้มุ่งพัฒนาเยาวชนไทยให้นำเทคโนโลยีไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมของอินเทล

Intel ICT for community 11

นายสนธิยา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงโครงการเพื่อสังคมของอินเทลว่า “อินเทลมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยีผ่านโครงการเพื่อสังคมต่างๆ เนื่องจากเราเชื่อว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ  โดยในประเทศไทย เรามุ่งเน้นโครงการเพื่อสังคมที่เกี่ยวกับการศึกษาเป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อยกระดับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ผ่านโครงการ Intel Teach  ส่วนที่สองเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถของประชาชนในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น  ผ่านหลักสูตร Intel Easy Steps ซึ่งเราได้จัดอบรมให้กับประชาชนทั่วไปกว่า 20,000 ราย และ จัดอบรมหลักสูตร Intel Entrepreneurship Basics ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2558 และส่วนที่สาม คือ การสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมไอทีให้กับนักเรียนและนักศึกษาไทย โดยอาศัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศในการเป็นศูนย์กลางความคิดและส่งเสริมทักษะการคิด ประดิษฐ์ ทำด้วยเทคโนโลยี ผ่านวัฒนธรรมเมกเกอร์ เราหวังว่าโครงการทั้งหมดนี้จะสามารถผลักดันให้คนไทยป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สู่ตลาดโลก  มิใช่เป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยีเท่านั้น”

Intel ICT for community 03

ด้านนางสาวสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้รับผิดชอบในการผลักดันด้านการศึกษาของอินเทล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
“เป้าหมายปลายทางของอินเทล คือการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี เพราะระบบอัตโนมัติต่างๆ กำลังถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อทดแทนแรงงานพื้นฐาน ความยาก คือเราจะบ่มเพาะเด็กๆให้คิดเชิงนวัตกรรม คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้อย่างไร วิธีการที่เราเลือกใช้คือสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ สร้างพื้นที่ สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เล่นกับเทคโนโลยี สร้างสิ่งประดิษฐ์เจ๋งๆ ไม่ใช่เพราะต้องทำหรือถูกกำหนดให้ทำ แต่เพราะตนเองสนใจและรักที่จะทำ นี่คือวัฒนธรรมเมกเกอร์หรือวัฒนธรรมนักประดิษฐ์ เมกเกอร์ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นความจริงด้วยการคิดค้นด้วยตนเอง เรียนรู้จากเพื่อน เรียนรู้จากแหล่งข้อมูลมากมายที่เทคโนโลยีเชื่อมโยงมาให้  บรรยากาศแบบนี้ส่งเสริมให้คนคิดเชิงนวัตกรรม ให้กล้าทำสิ่งที่แตกต่าง ให้เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วลองเริ่มต้นคิดค้นวิธีการใหม่ๆ”

“อินเทลดำเนินโครงการ Innovation Space เพื่อเป็นแรงหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ “สังคมแห่งปัญญา” (Smart Society) กิจกรรมในโครงการ Innovation Space ถูกจัดขึ้นโดยหลายหน่วยงานทั้งระดับโรงเรียน และระดับอุดมศึกษา เพื่อเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้นักเรียน หรือแม้กระทั่งครูอาจารย์ได้ลองเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้ลองออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ที่ประยุกต์ใช้หน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ เช่น ชุดอุปกรณ์ อินเทล กาลิเลโอ (Intel Galileo) ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐานในการทำให้อุปกรณ์ต่างๆ รับข้อมูลจากสภาพแวดล้อม และตัดสินใจทำงานตามที่โปรแกรมไว้ นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อบันทึก วิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะมีคุณค่ามากในวันข้างหน้าที่โลกมุ่งเข้าสู่ยุคของอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things – IoT) ซึ่งต่อไปอุปกรณ์อัจฉริยะจะเชื่อมโยงกันเป็นระบบอัจฉริยะต่างๆ เช่น ระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Transportation) ดังนั้น Innovation Space จึงเป็นทั้งพื้นที่และโอกาส ที่เยาวชนไทยจะได้ลงมือประดิษฐ์คิดค้นด้วยเทคโนโลยี สร้างให้เค้ามีทักษะด้านนวัตกรรม และมีแรงบันดาลใจในการใช้เทคโนโลยีไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็ได้เล่นสนุก ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข” นางสาวสติยา กล่าวเสริม

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ โดยมีนักเรียนและคณาจารย์เข้าร่วมจาก 3 โรงเรียนในจังหวัดนครนายก ได้แก่ โรงเรียนบ้านนา นายกพิทยากร โรงเรียนปิยชาติพัฒนา และโรงเรียนภัทรพิทยาจารย์  โดยนักเรียนได้แบ่งกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่หลากหลาย ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อินเทล กาลิเลโอ เจนเนอเรชัน 2 (Intel Galileo Gen 2) เช่น เครื่องตรวจวัดและเก็บข้อมูลสภาพอากาศ อุปกรณ์นับจำนวนรถในที่จอดรถพร้อมสัญญานไฟแสดงตำแหน่งที่จอดรถว่าง  อุปกรณ์รดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ เป็นต้น

อาจารย์ ดร. สถาพร มนต์ประภัสสร หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ผู้ประสานงานกิจกรรม Innovation Space ในครั้งนี้ กล่าวว่า “ ปีนี้เป็นปีแรกที่เราได้ร่วมมือกับอินเทลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแก่นักเรียน ด้วยการปรับใช้บอร์ด อินเทล กาลิเลโอ เพื่อประดิษฐ์เครื่องมือตรวจสอบและเก็บข้อมูลทางสิ่งแวดล้อม โครงการ Innovation Space ช่วยให้นักเรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้วิธีเก็บข้อมูลและประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมได้จริง เช่น การใช้อุปกรณ์อัจฉริยะนี้เก็บข้อมูลเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับพื้นที่ทำการเกษตรในสภาพอากาศที่เหมาะสม ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่นักเรียนและครูได้เรียนรู้จากการกิจกรรมนี้ จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมในระยะยาว”

ในส่วนของวิทยากร อาจารย์ ดร. ธีรเวทย์ ลิมโกมลวิลาศ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “การสร้างโอกาสหรือเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เข้าฝึกอบรม จะทำให้นักเรียนเกิดทักษะในการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงวิธีการแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น และเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และสร้างนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง โดยคาดหวังว่าหากมีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง นักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสังคมจะนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเพิ่มผลผลิต และมีการจัดการสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

เป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของอินเทลมีความสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่ต้องการพัฒนาคนไทยให้ก้าวเดินและแข่งขันได้บน “ถนนนวัตกรรม” ซึ่งการจะสร้างคนให้คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้นั้นต้องกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนานผ่อนคลาย เร้าความคิดสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ลองเล่นกับเทคโนโลยี พร้อมโจทย์ท้าทายว่าจะใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์อะไรเพื่อแก้ปัญหาปัญหาในชีวิตจริง บรรยากาศการเรียนรู้แบบนี้เกิดขึ้นแล้วในกิจกรรมโครงการ Innovation Space ในหลายภูมิภาค อินเทลยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยี และพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างพื้นที่ของนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างทั่วถึงต่อไป

Intel ICT for community 04

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here