Intel เตรียมพร้อมสู่ยุคแห่งการผสานเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียว ปี 2558

นอกจากสรุปเหตุการณ์ความสำเร็จในรอบปี 2557 แล้ว Intel ยังได้แสดงวิสัยทัศน์เทคโนโลยีในปี 2558 ของบริษัทในด้านเทรนด์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีข้างหน้านี้

intel-The-Era-of-Integration-02

คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

เดินหน้าสู่ยุคแห่งการผสานเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียว (Era of Integration)

เทคโนโลยีและศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ ได้ทำให้โลกของเราเปลี่ยน แปลงไปอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ และเราไม่อาจพึ่งพาอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียวคู่กับการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายแบบพื้นฐานได้อีกต่อไป ปัจจุบัน เราต่างก็ต้องการที่จะใช้อุปกรณ์มากมายหลายแบบ ทั้งอุปกรณ์ประมวลผลเพื่อการสวมใส่ (wearables) สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์พีซี ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมต่อถึงกันเป็นหนึ่งเดียวจนเกิดเป็นประสบการณ์การใช้งานที่ปรับแต่งได้ตามใจผู้ใช้งาน เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กำลังค่อยๆ พลิกโฉมโลกของเรา จากยุคที่เต็มไปด้วยสารพัดหน้าจอและอุปกรณ์ มาเป็นยุคแห่งประสบการณ์การใช้งานที่แทรกซึมเข้าสู่ทุกด้านของชีวิต

“ตอนนี้เราทุกคนกำลังอยู่ใน “ยุคที่ผู้ใช้อุปกรณ์ที่มีหน้าจอทุกขนาด” (Screenification) ของการใช้คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการใช้คอมพิวเตอร์แบบ ‘ไร้จอ’ ในปี 2558 โดยคอมพิวเตอร์จะแฝงอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นนาฬิการะบบจีพีเอส หรือเครื่องใช้ต่างๆในบ้านที่มีการเชื่อมต่อ ในฐานะผู้บริโภค เราสามารถโอนข้อมูลเหล่านี้ย้ายเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มใดๆก็ตามที่มีหน้าจอ เพื่อวิเคราะห์และเพิ่มคุณค่าของข้อมูลต่างๆได้” – ไบรอัน เดวิด จอห์นสัน, Intel Futurist

ยุคแห่งการการผสานเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียวได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เพื่อให้เราก้าวเข้าสู่ยุคใหม่นี้ได้อย่างเต็มตัว อุปกรณ์ที่เราใช้งานก็มีเทคโนโลยีอัจฉริยะใหม่ๆ ที่ช่วยให้เราทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจอแสดงผลที่พับได้ อุปกรณ์สมรรถนะสูงที่ใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่อุปกรณ์พกพาราคาถูกที่สามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้โดยอัตโนมัติ
การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่สำหรับอุปกรณ์ในยุคนี้จะมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์การใช้งานที่หลอมรวม เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวัน อุปกรณ์เหล่านี้จะทั้งใช้งานง่าย สะดวกสบาย และพกพาไปได้ทุกหนแห่ง จึงสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานได้ ทั้งยังเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ไปโดยสิ้นเชิง

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นจะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไอทีให้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่นี้ โดยมีแบรนด์ต่างๆ จากประเทศจีนและศูนย์วิจัยนวัตกรรมมากมายหลายแห่งเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งในปี 2558 ที่จะถึงนี้และปีต่อๆ ไป

ยุคแห่ง อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things – IoT)

ทุกวันนี้ สิ่งของนับพันล้านชิ้นรอบตัวเรา นับตั้งแต่ชิปประมวลผลขนาดจิ๋ว ไปจนถึงเครื่องจักรกลขนาดมหึมา ต่างก็ทำงานสอดประสานกันแบบไร้สาย จนเกิดเป็นเครือข่ายที่เชื่อมทุกสิ่งเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกกันว่า “Internet of Things” (IoT) เครือข่ายดังกล่าวนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทวิจัยไอดีซีได้คาดการณ์ว่าตลาด IoT ทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 เป็น 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563

ทั้งนี้ IoT จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่ผลักดันให้เราเดินหน้าเข้าสู่ยุคแห่งการผสานเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียวในปี 2558 นี้

ข้อมูลจากไอดีซีระบุว่าจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ Internet of Things นี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านชิ้นทั่วโลกในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าปริมาณข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นทั่วโลกก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลด้วยเช่นกัน โดยไอดีซีได้คาดการณ์ว่าปริมาณข้อมูลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวในเวลาทุกๆ สองปี และในปี 2563 เราก็จะมี “จักรวาลดิจิตอล” หรือข้อมูลที่สร้างและเคลื่อนย้ายถ่ายโอนทั้งสิ้นในแต่ละปี รวมทั้งสิ้น 44 เซตตะไบต์ หรือเท่ากับ 44 ล้านล้านกิกะไบต์นั่นเอง

ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ เทคโนโลยี ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรฐานอุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องพัฒนาต่อไปในปีหน้านี้ โดยระบบคลาวด์แบบมาตรฐานเปิดจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก

หลังจากที่โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการผสานเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียวอย่างเต็มตัว โครงข่าย IoT จะยก ระดับคุณภาพชีวิตประจำวัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานในภาคธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพในการทำงานของทุกคน จนเกิดเป็นคุณประโยชน์มากมายมหาศาลสำหรับทุกคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมหรือชุมชนที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากโรงงานของอินเทลแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 9 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่นำระบบ IoT มาใช้งาน

เมื่อโครงข่าย IoT ถูกนำมาใช้เป็นที่แพร่หลาย และระบบในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลได้พัฒนาศักยภาพให้เพียงพอต่อการรับมือกับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น เราก็คาดการณ์ว่าวงการสาธารณสุขจะกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ออกสู่สายตาได้อย่างรวดเร็ว

บุกเบิกโลกยุคใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

สังคมและชุมชนทั่วโลกจะหันมาใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเต็มที่ได้ก็ต่อเมื่อผู้คนมีความเข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับในฐานะผู้ใช้งาน ตัวอย่างเช่นโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ซึ่งนำนวัตกรรมล่าสุดมาเสริมศักยภาพของระบบต่างๆ จนกระทั่งดานังกลายเป็นหนึ่งใน “สมาร์ท ซิตี้” แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมี่เป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์บริการสาธารณะที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนชาวดานังและทุกคนที่มาเยือน

“ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราทุกคนจะได้เห็นการเติบโตของสมาร์ทซิตี้ ที่มีการบริหารจัดการพลเมืองเป็นแก่นสำคัญ ธุรกิจต่างๆจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงการแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ที่จะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็จำ ต้องคงไว้ซึ่งความสมดุลระหว่างผลกำไรของตนเองกับสิ่งที่เหมาะสมสำหรับพลเมือง สมาร์ทซิตี้เป็นเรื่องของการตั้งคำถามที่ท้าทายกว่าเดิมกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและการพัฒนาบริการต่างๆที่ดีขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์ด้วยกันอย่างถ้วนหน้า” – เจเนวีฟ เบล, อินเทล แล็บ, ผู้บริหารอินเทล และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย User Experience

อุปกรณ์อัจฉริยะใหม่ๆ ที่จะออกสู่ตลาดในปี 2558 ก็จะใช้งานได้ง่ายขึ้น และเข้ากับความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังจะได้เห็นอุปกรณ์ที่แปลกใหม่ทั้งในด้านรูปลักษณ์ คุณสมบัติ และการใช้งาน เช่น อุปกรณ์ประมวลผลเพื่อการสวมใส่ หรืออุปกรณ์ที่แสดงผลเป็นสามมิติ อันถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจโลกยุคใหม่นี้มากขึ้น

นอกจากนี้ เรายังจะได้เห็นทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไปหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์กันมากขึ้น เช่นในรูปแบบของเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งมีแนวโน้มจะพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

 intel-The-Era-of-Integration-04

คุณสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการศึกษา บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

เตรียมพร้อมก่อนก้าวสู่อนาคต

การจะปรับใช้เทคโนโลยียุคใหม่เหล่านี้ให้ได้ผล ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทักษะ ความรู้ และเครื่องมือที่จำเป็นให้กับภาคแรงงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยจากการสำรวจในหัวข้อภาวะขาดแคลนแรงงานเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่ากว่าร้อยละ 45 ของผู้จ้างงานในแถบเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญกับปัญหาด้านการขาดทักษะ อันเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างไม่สามารถหาบุคลากรมาเติมเต็มในตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ได้ โดยหากเราต้องการรักษาให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงสถานะความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในโลกยุคใหม่ไว้ได้ ก็จะต้องคิดค้นวิธีการที่จะปิดช่องว่างด้านทักษะและความรู้ตรงนี้ให้ได้เสียก่อน เพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคนได้ก้าวไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน

“ในปี 2558 การศึกษาและการเชื่อมต่อบรอดแบนด์จะเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและญี่ปุ่น พลเมืองจะมีการเชื่อมต่อมากขึ้น รวมถึงมีการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการผลิตในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญตามไปด้วย จึงถือเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจของภูมิภาคและตลาดที่กำลังเติบโต และเป็นการวางรากฐานที่ดีให้กับ IoT และระบบคอมพิวเตอร์แบบฝังตัวด้วยเช่นกัน” – ปรากาช มัลลยา ผู้อำนวยการอินเทล ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here