ในช่วงที่การ์ดจอหรือ ‘การ์ดจอแยก’ กลายเป็นของหายากและมีค่าแทบไม่ต่างไปจากทองคำ จะด้วยความต้องการสูงจนขาดตลาดก็ดี ขุดเหมืองก็ดี และอีกหลาย ๆ ปัจจัย ที่อยู่ ๆ ก็มาบรรจบพร้อมกัน จน ระเบิดเป็น “การ์ดจอแพง” ในที่สุด
เพราะเหตุนี้เอง Integrated Graphics หรือ การ์ดจอออนบอร์ด จากแต่เดิมมักถูกมองข้าม วันนี้กลับกลายเป็น ‘พระเอกจำเป็น’ สำหรับเหล่า Creator หรือ Gamer ไปปริยาย เนื่องด้วยราคาซีพียูในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นเป็นเท่าตัวเหมือนฝั่งการ์ดจอแยก จึงสามารถจัดสเปกได้ตามปกติ (หากไม่รวมการ์ดจอ) แต่ถึงอย่างนั้น เชื่อว่าหลายคนยังคงกังขาถึงประสิทธิภาพ และมีคำถามว่า “ออนบอร์ดไหวไหม ?”
บทความนี้จะมาตีแผ่เทคโนโลยีของการ์ดจอออนบอร์ดในปัจจุบัน ให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ กัน และพระเอกในครั้งนี้คือ Intel Core Gen 11 กับโค้ดเนม Rocket Lake-S ในฝั่ง Desktop PC ที่มาพร้อม Intel UHD Graphics 750 การ์ดจอออนบอร์ดแห่งยุค ซึ่งจะเป็นพระเอกจำเป็น ของคั่นเวลา หรือใช้ถาวรไปเลยไหม ลองมาดูกันครับ
Intel Iris Xe และ UHD Graphics 750 การ์ดจอออนบอร์ดแห่งยุค
ให้พูดแบบเปิดใจเลย เมื่อก่อนหากพูดถึง ‘Intel HD’ หรือ ‘การ์ดจอออนบอร์ด’ เชื่อว่าหลายคนคงส่ายหัวแน่ ๆ ดูเหมือนทาง Intel ก็ทราบในจุดนี้อยู่เหมือนกัน จึงได้พยายามพัฒนาส่วน Integrated Graphics มาโดยตลอด จนเข้าสู่ยุค Intel Gen 11 ในช่วงนี้เองที่ Intel ได้ปล่อยไม้ตายอย่าง Intel Iris Xe Graphics
ชิปการ์ดจอออนบอร์ดคุณภาพสูง สามารถเล่นไฟล์วิดีโอระดับ 8K ได้ ช่วยให้การตัดต่อวิดีโอเป็นไปอย่างลื่นไหลมากยิ่งขึ้นขณะเดียวกันยังใช้พลังงานต่ำกว่าการใช้การ์ดจอแยก ทำให้มีอายุการใช้งานแบตฯ ที่ยาวนานยิ่งกว่า ทั้งหมดนี้ก็ทำให้โน้ตบุ๊ก กลายเป็นอุปกรณ์พกพาที่ทรงพลังขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ
ส่วนในฝั่ง Desktop PC ก็ใช้เป็น UHD Graphics 750 ซึ่งแม้จะมีชื่อต่างกัน แต่โดยโครงสร้างแล้ว ถือว่าเป็นแบบเดียวกับ Intel Iris Xe Graphics เลย จุดที่ต่างจริง ๆ ก็มีหน่วยประมวลผล Execution Units (EUs) ที่น้อยกว่าตัว Iris Xe แต่ด้านคุณภาพโดยรวมถือว่าพอ ๆ กัน
สเปกเด่น UHD Graphics 750 และ Intel Gen 11
หากลองเจาะลึกตัวสเปก UHD Graphics 750 ก็จะพบว่ามันมีหน่วยประมวลผล 32 EUs มาพร้อมความเร็ว Core Speed 350 MHz (Boost 1300 MHz) รองรับการแสดงผล 4K@60fps และรองรับ DirectX 12.1 ด้านความแรงนับว่าเหนือกว่าตัว UHD 630 รุ่นก่อนถึง 50%
และเมื่อมารวมกับคุณสมบัติเด่นของ Intel Gen 11 ในฝั่ง Desktop PC (รหัส Rocket Lake-S) ที่มีตัวประสิทธิภาพ IPC หรือชุดคำสั่งแรงขึ้น 19% มี Intel Deep Learning Boost เพิ่มคุณสมบัติ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รองรับ PCIe 4.0 กับ DR4-3200 และสามารถทำ Overclock หรือ OC ได้ยืดหยุนขึ้น เช่น OC ความเร็ว Ram บน M/B รหัส H570 และ B560 ได้
ชิป AI ในตัว
จุดเด่นสำคัญของ Intel UHD Graphics 750 และ Iris Xe ที่เป็นซีพียู Gen 11 เลยคือ ระบบ AI ขั้นสูงในตัว หรือ Intel Deep Learning Boost ช่วยเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการประมวลผลดีกว่าเดิมถึง 2.5 เท่า (เทียบกับ Gen 10) และช่วยให้การทำงานด้านการตัดต่อ งานกราฟฟิก มีความรวดเร็วและไหลลื่นยิ่งขึ้น เนื่องด้วยชิป AI ที่เข้ามาช่วยลดภาระการประมวลผลหลักนั้นเอง
AI ช่วยลดภาระการประมวลผลหลัก คือยังไง ต้องบอกเลยว่า ในชิปซีพียูสมัยนี้ ไม่ได้มีเฉพาะตัวที่เป็นซีพียูเท่านั้น แต่มีทั้ง ส่วนควบคุม ส่วนการ์ดจอ และส่วนสุดท้ายก็คือ AI ซึ่งแยกเป็นชิปประมวลผลเฉพาะนั้นเอง จากเมื่อก่อนตัวซีพียูจะทำหน้าที่ส่วนนี้ แต่ปัจจุบันไม่ต้องแล้ว ชิป AI จะจัดการแทน ไม่ต้องมาเสียประสิทธิภาพการประมวลผลอย่างสูญเปล่า และด้วยการที่เป็นชิปแยก ก็ทำให้สามารถยัดฟีเจอร์ด้าน AI เข้ามาได้อย่างเต็มที่ด้วย เช่น
‘การอัปสเกลภาพ’ ใช้ AI ช่วยเพิ่มความคมชัดอย่างรูปภาพ ให้มีความละเอียดมากขึ้น ‘ทำงานร่วมกับโปรแกรมอื่น’ เช่น โปรแกรมแก้ไขภาพถ่าย ให้ทำงานได้ดีและรวดเร็วขึ้น เช่น ภาพใบหน้า ที่สามารถลบริ้วรอยจนเนียนสวยได้ในทันที (หนึ่งในคุณสมบัติเด่นของ OpenVINO ชุดเครื่องมือจาก Intel) และ ‘เพิ่มความเร็วการถอดรหัสวิดีโอ’ หรือใช้ AI ช่วยถอดรหัส AV1 ทำให้เปิดไฟล์ 4K จนถึง 8K แบบ HDR ได้อย่างลื่นไหลไม่กระตุก เป็นต้น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thailand.intel.com/content/www/th/th/products/docs/processors/core/intelligent-pc-overview.html
ทดสอบความแรง
ประเดิมด้วยผลเทส 3D Mark จากตัว Intel Core i5-11600K ซีพียู Intel Gen 11 ในระดับเริ่มต้น เริ่มจาก Fire Strike Standard ผลคือได้ 2,021 คะแนน ส่วนตัว Night Raid ได้ 9,869 คะแนน ถือเป็นการวัดประสิทธิภาพของ UHD Graphics 750 โดยตรง ก็เรียกได้ว่า ดีกว่าการ์ดจอออนบอร์ดรุ่นก่อนเกือบเท่าตัว ส่วนประสิทธิภาพถือว่าพอใช้ ไม่ได้หวือหวามาก ก็ต้องยอมรับว่าฝั่งการ์ดจอแยก ยังคงได้เปรียบอยู่
ต่อด้วย PC Mark 10 โปรแกรมวัดประสิทธิภาพการใช้งานโดยรวมของ PC อาทิ ท่องเว็บ วิดีโอ Call แต่มีทดสอบการตัดต่อวิดีโอ กับการทำงานกราฟฟิกแบบพอประมาณ จุดนี้ตัว Intel Core i5-11600K ได้คะแนนไป 5,020 คะแนน ถือว่าใช้งานได้ดีเลย แม้จะมีชิปซีพียูตัวเดียวก็ตาม
สุดท้ายลองดูในส่วน Gaming ลองเล่นไป 2 เกม อย่าง Counter-Strike Global Offensive หรือ CSGO กับ Apex Legends เกม CSGO สามารถเล่นได้ประมาณ 80 fps ในการแสดงผลระดับ 1080p (Full HD) ปรับ Low ทั้งหมด ส่วนเกม Apex Legends ก็เล่นได้ประมาณ 42 fps ในการแสดงผลระดับ 720p (HD) ปรับ Low ทั้งหมด
โดยรวมคือเล่นได้ โดยเกม CSGO ไม่ค่อยกินสเปกเท่าไร หากปรับภาพแบบ Low คือเล่นได้ลื่นไหลสบาย ๆ ส่วนเกม Apex Legends ถือว่ากินสเปกพอควร ต้องปรับความละเอียดภาพ 720p และปรับ Low ทั้งหมด ถึงจะเล่นได้อย่างลื่นไหล แต่ก็ต้องยอมแลกกับภาพกราฟฟิก ที่อาจไม่สวยนัก
สรุป UHD Graphics 750 รอดไหม
จากผลการทดสอบทั้งหมด ก็พูดได้เลยว่า UHD Graphics 750 ดูดีขึ้นกว่าก่อนมาก ๆ เป็น Integrated Graphics หรือ การ์ดจอออนบอร์ด ที่สามารถเพิ่งพาได้จริง แม้คุณภาพก็ต้องยอมรับว่า ฝั่งการ์ดจอแยกยังทรงพลังกว่ามาก แต่ในยุคนี้เองที่การ์ดจอแยกกลายเป็นของหายากไปซะแล้ว ฉะนั้น หากจะหันมาซบอกการ์ดจอออนบอร์ดจาก Intel Gen 11 ทั้ง Intel Iris Xe และ UHD Graphics 750 ในตอนนี้ก่อน ก็เป็นการดี ประหยัดเงินในกระเป๋า แต่ยังได้ประสิทธิภาพที่คุ้มค่า จะเล่นเกมก็ไหว ยิ่งถ้าสายทำงาน กราฟิก นี่ทำได้สบายครับ