กันก่อนแก้ เฝ้าระวังสายเน็ตใต้ทะเล หวั่นถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ

[จับตามอง] เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2024 กลุ่มก่อการร้ายฮูตี (Houthi) ในเยเมน ได้โจมตีเรือบรรทุกสินค้าของ Rubymar ที่ทะเลแดงด้วยขีปนาวุธ และจากการโจมตีครั้งนั้น ก็ส่งผลให้สมอของเรือลากไปตามพื้นทะเลเป็นระยะทางถึง 70 กิโลเมตรก่อนจะจมลง จนทำให้สายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่สำคัญ 3 เส้น ซึ่งรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตประมาณหนึ่งในสี่ระหว่างยุโรปและเอเชียขาดลง

จากเหตุดังกล่าว ได้กลายเป็นเครื่องเตือนใจถึง ‘ความเปราะบาง’ ของอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ที่มาจากเครือข่ายใยแก้วนำแสงใต้ทะเลกว่า 95% นี้เอง ถึงขั้นที่ Tim Stronge รองประธานฝ่ายวิจัยของ TeleGeography ได้กล่าวกับทาง IEEE เลยว่า สายเคเบิลที่อยู่ใต้ท้องทะเลลึกเหล่านี้ มีความเปราะบางกว่าที่คิด

ต่อมาทาง NATO ได้จัดตั้งโครงการที่มีชื่อว่า Hybrid Space-Submarine Architecture Ensuring Infosec of Telecommunications หรือเรียกสั้น ๆ ว่า HEIST โครงการมุ่งพัฒนากลยุทธ์ เพื่อปกป้องการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตทั่วโลก และสร้างเส้นทางสำรองเมื่อเกิดเหตุให้หยุดชะงัก

เป้าหมายสำคัญของ HEIST คือการพัฒนาระบบเพื่อค้นหาจุดขาดของสายเคเบิลอย่างรวดเร็ว ด้วยความแม่นยำ 1 เมตร และสำรวจวิธีเปลี่ยนเส้นทางการรับส่งข้อมูลที่สำคัญสูงไปยังดาวเทียมแทน อาจเรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นเอง

สำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากนั้นดาวเทียมนั้น ก็อยู่ในแผนเช่นกัน ทว่าก็ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญในแง่ของปริมาณข้อมูล โดยหากเทียบกับสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในปัจจุบัน ที่สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้สูงถึง 340 เทราบิตต่อวินาที ในขณะที่การสื่อสารผ่านดาวเทียมทั่วไป ทำได้แค่ 5 กิกะบิตต่อวินาทีเท่านั้น

เพื่อแก้ไขความแตกต่างนี้ ทางฝั่งทีมงานของ HEIST ก็มีการร่วมมือกับ NASA ด้วยการทดสองส่งสัญญาณข้อมูลผ่านแสงจากดาวเทียม ซึ่งก็แสดงศักยภาพได้เป็นอย่างดี ทว่าก็ยังมีอุปสรรคในเรื่องสภาพบรรยากาศ เช่น เมฆ หมอก หรือควัน ที่อาจเข้ามารบกวนสัญญาณได้ ทั้งยังต้องใช้การเล็งแม่นยำมากด้วย โดยหากใช้ดาวเทียมในวงโคจรที่สูงขึ้น ก็อาจเจอปัญหา Latency หรือความหน่วงของสัญญาณด้วยอีกเช่นกัน ซึ่งก็ต้องหาวิธีกันต่อไป

มีข้อมูลน่าสนใจว่า เครือข่ายสายเคเบิลใต้น้ำทั่วโลกซึ่งมีความยาวประมาณ 1.2 ล้านกิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วยสายเคเบิลภายในอีก 500 ถึง 600 เส้น ที่คอยรองรับข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน ในมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวัน

ที่มา : Techspot