9 เรื่อง ใช้คอมพิวเตอร์ในบ้านให้ปลอดภัย และเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

การใช้งานคอมพิวเตอร์ภายในบ้าน ปัจจุบันดูจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบในชีวิตประจำวันของแต่ละบ้าน ซึ่งหลายครอบครัวมีการแบ่งเครื่องใช้งานโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แต่บางบ้านอาจจะยังใช้เป็นแบบเครื่องคอมพ์ตัวเดียวเป็นเครื่องกลางบ้านอยู่ ก็แล้วแต่ความสะดวกและข้อจำกัด

ใช้คอมพิวเตอร์ในบ้านให้ปลอดภัย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในรูปแบบใด สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่สมาชิกภายในบ้าน สามารถใช้อย่างปลอดภัย ทั้งในเรื่องของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว ดังนั้นการดูแลและรักษาความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อสมาชิกทุกคนในบ้าน และทุกคนก็สามารถช่วยกันตรวจสอบและเตรียมพร้อม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่ง aripfan ขอแนะนำ “9 เรื่อง ใช้คอมพิวเตอร์ในบ้านให้ปลอดภัย และเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม”

1.ตั้งพาสส์เวิร์ดที่มีความปลอดภัยให้กับเราเตอร์ภายในบ้าน

ปัจจุบันส่วนใหญ่ทุกบ้านมีการใช้งาน WiFi เป็นพื้นฐาน การตรวจสอบและป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้าใช้จากบุคคลภายนอกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของการดึงโหลดสัญญาณ WiFi ไปใช้เท่านั้น แต่กรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา เช่นการหมิ่นประมาทหรือข้อพิพาทจากการโพสต์ข้อความ จะถูกตรวจสอบจากแหล่งที่มา หากผู้ไม่ประสงค์ดีใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากบ้านเราไปใช้ในทางที่ไม่ดีแล้ว ผลเสียอาจตกอยู่กับสมาชิกในบ้านได้

2.พื้นที่เก็บข้อมูลส่วนกลาง รูปถ่ายไม่หาย ช่วยสำรองไฟล์ให้ปลอดภัยมากขึ้น

หลายคนเคยบอกว่า รูปถ่ายคือสิ่งที่ทำให้เราย้อนอดีตไปได้ และบางภาพไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ภาพถ่ายจึงเป็นความทรงจำที่จับต้องได้ การรักษาภาพถ่ายในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล จึงต้องมีพื้นที่เก็บที่ปลอดภัย การสร้างพื้นที่จัดเก็บไฟล์ที่มีความปลอดภัยและเรียกใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเก็บไฟล์ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น โดยปัจจุบันมีให้เลือกตั้งแต่ External HDD, NAS หรือว่าจะเป็น Cloud Storage ก็มีอยู่มากมาย และค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถเลือกได้ตามรูปแบบที่ต้องการ

3.เปิดระบบรักษาความปลอดภัยในวินโดวส์ให้ครบถ้วน

ระบบปฏิบัติการวินโดวส์มีระบบรักษาความปลอดภัยมากมายมาในตัว แต่ผู้ใช้ก็ต้องเปิดให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ด้วย เช่น Windows defender ป้องกันไวรัส, ไฟร์วอลล์ รวมถึงการอัพเดตวินโดวส์ให้มีความต่อเนื่องอยู่เสมอ เพื่อลดปัญหาการโจมตีของภัยคุกคามในด้านต่าง ๆ แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

4.ติดตั้ง Anti-Virus และหมั่นอัพเดตเป็นประจำ

แต่ในกรณีที่ต้องการประสิทธิภาพในการป้องกันเพิ่มมากขึ้นอีกระดับ การเลือกใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส อย่างเช่น Anti-Virus หรือ Internet Security ก็ช่วยให้เพิ่มความมั่นใจให้กับการใช้งาน โดยเฉพาะทำธุรกรรมออนไลน์หรือจะเป็นการใช้งานทั่วไปก็ตาม สิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยลดปัญหาเรื่องของ Virus ก็ยังรวมถึงภัยคุกคามประเภท Malware, Phishing, Ransomware และอื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งที่จำเป็นก็คือ ต้องอัพเดตอยู่เป็นประจำ

5.พีซีส่วนกลาง ควรสร้าง User Account เฉพาะบุคคล

กรณีที่ในบ้านมีการใช้งานคอมพิวเตอร์ร่วมกัน ควรสร้าง User Account ให้กับทุกคนภายในบ้าน นอกจากเพื่อความเป็นส่วนตัวในการใช้งานของแต่ละบุคคลแล้ว ยังช่วยป้องกันการลบหรือย้ายไฟล์ผิด จนอาจทำให้เกิดความเสียหายหรือการทะเลาะกันได้ของสมาชิกภายในบ้าน

6.เครื่องคอมพ์สำหรับทำธุรกรรมออนไลน์ ไม่ควรเข้าถึงได้ง่าย

ในบางบ้านที่มีการใช้งานคอมพ์ร่วมกัน โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบธุรกรรมออนไลน์ เช่นการใช้ Internet Banking ควรมีการตั้งค่าให้ใช้พาสส์เวิร์ดหรือการแสดงตัวตนก่อนใช้งาน หลีกเลี่ยงการใช้การจดจำพาสส์เวิร์ด หรือ Remember password เพราะอาจเกิดการเข้าใจผิดหรือลักลอบเข้าใช้ และเกิดความเสียหายได้ในภายหลัง

7.เครื่องสำรองไฟ ป้องกันไฟกระชาก มีไว้อุ่นใจ

เครื่องสำรองไฟหรือป้องกันไฟกระชาก เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพราะลดความเสียหายจากแรงดันไฟฟ้าที่ส่งผลต่อฮาร์ดแวร์และข้อมูล โดยเฉพาะกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ด้วยอุปกรณ์ราคาไม่สูงมากนัก แต่ช่วยเซฟข้อมูลหรืองานอันมีค่า เวลาที่เกิดปัญหาไฟดับแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

8.ติดตั้งแสงสว่างให้มากพอ เพื่อถนอมสายตา

แสงสว่างเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม แต่กลับเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อดวงตาอย่างมากในการใช้งานคอมพิวเตอร์ การเพิ่มหรือปรับปริมาณแสงให้เหมาะสม ไม่มืดจนเกินไป หรือไม่สว่างจนรบกวนสายตา ช่วยให้เกิดความปลอดภัยและถนอมสายตาให้สามารถใช้งานได้นาน ๆ

9.การใช้งานคอมพิวเตอร์ของเด็ก ๆ ควรกลั่นกรองให้เหมาะสม

ปัจจุบันผู้ใช้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกเพศทุกวัย และมีคอนเทนต์มากมายในโลกใบนี้ ทั้งที่ดีและไม่ดี ดังนั้นผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและดูแล รวมถึงกลั่นกรองข้อมูลบางอย่างให้กับสมาชิกภายในบ้าน ให้เหมาะสมกับวัย หรืออย่างน้อยมีเวลาในการใช้งานร่วมกันบ้างเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีต่อกันในครอบครัว

เรียบเรียงโดย LK

 

 

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here