เช็คลิสต์ก่อนตาย ข้อมูลที่โพสต์ไว้ ไม่หาย ญาติกู้คืนได้ชัวร์

จังหวะนี้ ต้องคิดแล้ว!! ถ้าเราตายไป… ข้อมูลต่างๆ ของเราจะทำไง? ช่วงนี้เหตุการณ์ต้นปีเป็นอะไรที่พีคเนอะ อะไรก็เกิดขึ้นได้จริง ดูแลตัวเองกันหน่อยนะจ้ะ

แอดเคยตั้งคำถามเหมือนกันนะ ถ้าสมมุติเราตายไป แล้วข้อมูลของเราจะทำยังไง ที่คิดไม่ใช่อะไร ความลับเยอะน่ะ อิอิ ไหนจะ Facebook หรือ Social ต่างๆ ที่สมัครไว้ เว็บหลายๆ เว็บ ข้อมูลในมือถือ ในคอมพิวเตอร์ ข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ฯลฯ ถ้าเราไม่อยู่แล้ว มันจะไปไหนต่อ?

บางคนอาจจะไม่ได้สนใจอะไร ก็ไม่ได้มีความลับหนิ หรือต่อให้มี ก็ไม่มีใครเข้าได้หรอก เพราะเรามีรหัส ว่าแต่มีใครรู้รหัสของคุณบ้างล่ะ หรือไปจดไว้ที่ไหนมั้ย? นั่นแหละ บางทีมันอาจเป็นเรื่องที่ไม่โอเคก็ได้ ถ้ามีคนรู้ อาจนำไปใช้ต่อในทางที่ผิด หรืออะไรก็แล้วแต่ ฝากไว้ให้คิด

ปกติเราเคยถ่ายภาพ เขียนเอกสาร สร้างสรรค์ผลงานไว้ คนอื่นก็สามารถมาเก็บและดูสิ่งที่เราเหลือไว้ได้ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ แผ่นเพลงที่เราซื้อไว้ คนอื่นในครอบครัวก็นำไปแบ่งกันใช้ได้หรือเก็บไว้ดูต่างหน้าได้ แต่สำหรับยุคนี้มันมีไว้ดูน้อยมากกก เพราะมันไปอยู่บนโลกดิจิทัลทั้งหมด ทั้งในสมาร์ทโฟน ในคอมพิวเตอร์

สมัยก่อน ชีวิตจัดการง่ายกว่านี้ แค่ทิ้งพินัยกรรมไว้ จัดเอกสารประกันชีวิตที่เป็นหมวดหมู่ ค้นพบง่าย แค่นั้นเอง แต่ในยุคนี้ เรามีกุญแจดิจิทัลที่เราฝากใครไว้ไม่ได้อยู่หลายดอก เช่น รหัสผ่าน เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลบนคลาวด์ ฯลฯ

ทีนี้มันมีวิธียังไงบ้างล่ะ ที่จะป้องกันการเกิดเหตุการณ์ที่คนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัวมาใช้ หรือต้องการเก็บไว้ให้ครอบครัวดู วันนี้แอดมีหลายวิธีง่ายๆ มาแชร์กัน ว่าเราควรจะป้องกัน หรือรักษาความเป็นเราเอาไว้ หรืออยากให้มันตายไปพร้อมกับเรา ต้องดูอะไรบ้าง..

 

 

1. สำรองรหัสผ่าน

กุญแจลับที่มีเรารู้คนเดียวอยู่ในสมอง ตอนที่เรายังมีชีวิต เราอาจจะไม่อยากเผยแพร่
แต่เมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว รหัสผ่านที่เข้าสู่หลายบริการอาจจะเป็น “ความสุข” ให้กับคนที่ยังอยู่ ดังนั้น เราน่าจะลองตัดสินใจไว้แต่เนิ่นๆ ว่าต้องการจะทำอย่างไรกับรหัสผ่านเหล่านี้

อีเมล : อีเมลหลักที่เราใช้ ไม่เพียงไว้รับส่งจดหมาย แต่ยังใช้เป็น username เข้าใช้บริการอื่นๆ ด้วย

โซเชียล : อีกหนึ่งตัวตนของเรา หลายบริการ เช่น Facebook มีระบบให้ญาติแจ้งยืนยันเข้าไปว่า ผู้ใช้เสียชีวิตแล้ว แต่หากเรามอบรหัสผ่านให้คนที่ยังอยู่ คนเหล่านั้นอาจจะเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ต่อ

ระบบคลาวด์ : พื้นที่เก็บข้อมูล, server, domain name ซึ่งอาจมีข้อมูลสำคัญ ที่อาจมีเราเพียงคนเดียวที่เข้าไปได้

AppStore หรือ Google Play : หรือบัญชีอื่นๆ ซึ่งเราใช้ซื้อแอพฯ หนัง เพลง เกม ฯลฯ ไว้ หากเราต้องการให้คนข้างหลังเราได้ใช้งานเนื้อหาเหล่านี้ต่อ เราควรเตรียมการให้มีการเข้าถึงได้

วิธีที่ง่ายแต่อาจจะเหนื่อยที่สุด คือการเขียนรหัสเหล่านั้นไว้ในกระดาษ เมื่อมีคนที่มีสิทธิ์เข้าดูเอกสารส่วนตัวของเราได้อ่าน เขาก็จะสามารถเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ของเราได้ หรือถ้าจะเป็นวิธีที่ทันสมัยหน่อย ในต่างประเทศก็จะมีบริการ เช่น GhostMemo หรือ Afternote ที่จะให้เราเขียนข้อความสั่งเสียไว้ก่อน แล้วเมื่อถึงวันที่เราเสียชีวิต ข้อความนั้นจะถูกส่งไปยังคนที่เราตั้งค่าไว้

แล้วบริการนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่อยู่แล้ว?
คำตอบคือ มันจะขยันส่งเมลมาถามว่าเรายังมีชีวิตหรือไม่ เช่น ทุก 2 สัปดาห์ (เราตั้งได้) ถ้าเราไม่กดตอบตามเวลา มันก็จะคิดว่าเราไม่อยู่แล้ว และเริ่มดำเนินการแจ้งแก่ญาติตามที่กำหนด

อีกวิธีคือใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยจัดการรหัสผ่านให้เราแทน ซึ่งแอพฯ นี้จะรู้รหัสผ่านในทุกๆ บริการของเรา และเราเพียงจดจำรหัสเข้าแอพฯ นั้นอย่างเดียว ซึ่งจะง่ายต่อการบอกต่อ หรือบางทีเราอาจไม่ต้องบอกรหัสผ่านทั้งหมด แต่บอกลำดับแนวคิดในการใช้งานบริการต่างๆ ของเรา เช่น อีเมลนี้คืออีเมลหลัก อีเมลนี้คือสำรอง ถ้าเป็นอีเมลจะใช้รหัสแบบนี้ ถ้าเป็นบริการอื่นจะใช้รหัสแบบนี้ ฯลฯ

 

2. เก็บซิมไว้

เบอร์โทรศัพท์ หรือซิม นอกจากมีไว้โทรแล้ว ยังมีไว้ใช้รับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว หรือ OTP ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยขั้นสูง ดังนั้น อย่าลืมแนะนำให้ญาติเก็บซิมไว้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการธุรกรรมทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย

 

3. สำรองข้อมูลบน Clound

เดี๋ยวนี้อุปกรณ์ไฮเทคหลายชิ้นต้องมีการตั้งรหัสปลดล็อกไว้ เช่น iPhone หากไม่ปลดล็อกด้วย iCloud ก็ไม่สามารถนำเครื่องไปล้างและให้คนอื่นใช้งานต่อได้ รหัส iCloud จึงเป็นหนึ่งในรหัสที่จำเป็น หรือจะเป็นรหัสผ่านเข้าคอมพิวเตอร์ รหัสผ่านเข้ามือถือ แท็บเล็ต ทีวี เกม อุปกรณ์บลูทูธ และสารพัด ซึ่งสมควรจะให้คนที่ยังอยู่ได้ใช้ประโยชน์จากมันต่อไปมั้ย อะไรยังไง ก็แล้วแต่เราพิจารณา

 

4. ตั้งค่าผู้สืบทอดบัญชี

สำหรับ Facebook สามารถตั้งค่าให้บอกคนอื่นได้ว่า เราตายไปแล้ว หรือสามารถให้คนในครอบครัวของเราเข้ามาใช้ได้

วิธีทำ https://www.facebook.com/help/requestmemorialization

5. ใส่รหัสข้อมูลในคอมพิวเตอร์

แน่นอนว่าเราไม่อยากจากไปโดยทิ้งความอับอายไว้ข้างหลังแน่นอน (กรณีเผื่อใครมีความลับเยอะ ซึ่งคอมพิวเตอร์นี่แหละ ตัวเก็บต้นๆเ ลย อิอิ)

หากใครมีข้อมูลอะไรที่ไม่อยากให้ใครในโลกนี้อีกแล้วเข้าถึงได้ นอกจากตัวเรา สามารถหาก้อนฮาร์ดดิสก์ที่ใส่รหัสผ่านได้ เพื่อเก็บข้อมูลนั้นแบบเข้ารหัส แล้วให้ข้อมูลเหล่านั้นจากโลกนี้ไปพร้อมกับเรา หรือจริงๆ แค่ตั้งรหัสผ่านเข้าเครื่องก็ใช้ได้แล้ว เพราะถ้าไม่มีใครเข้าเครื่องเราได้ ก็ต้องล้างเครื่องอยู่ดี แต่ก็ไม่ชัวร์อีกว่าใครบางคนจะสามารถกู้อะไรกลับมาได้อีกมั้ยเนอะ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างไว้พิจารณาเท่านั้น ใครจะใส่ใจหรือไม่ใส่ใจก็แล้วแต่คนนะครับ อิอิ