How to : มอนิเตอร์ทำงาน เลือกอย่างไร ให้ใช้ได้ทุกอย่าง

มอนิเตอร์แสดงผล ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะการออกแบบเพื่อกลุ่มผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านการใช้งานทั่วไป เกมเมอร์และกลุ่มนักทำงานมืออาชีพ ซึ่งก็ล้วนแต่มีความต้องการแตกต่างกันออกไป ยิ่งเป็นกลุ่มของผู้ใช้ที่ต้องการมอนิเตอร์ทำงานอย่างจริงจัง ก็จำเป็นจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของงานและในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เพื่อให้งานที่ได้ออกมามีคุณภาพและสนองความต้องการได้ตรงจุด ให้ความสะดวกสบาย ซึ่งในส่วนนี้เองจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาในหลายส่วนด้วยกัน

ขนาดหน้าจอและความละเอียด

เป็นปัจจัยแรก ๆ สำหรับการเลือกใช้จอมอนิเตอร์สำหรับนำมาใช้ในการทำงานอย่างจริงจัง เพราะพื้นที่ในการแสดงผลส่งผลต่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันอย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ซอฟต์แวร์ในการออกแบบ ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ ก็จะช่วยให้มองออบเจกต์หรือวัตถุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมองควบคู่ไปกับความละเอียดของหน้าจอร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันก็มีหน้าจอให้เลือกหลายขนาดและหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการใช้งานในแต่ละประเภท เช่น หน้าจอขนาดในแบบ Wide-screen ก็ยังมีให้เลือกทั้งแบบ 16:9 ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป และ 21:9 ที่เป็นจอภาพแบบ Ultra-wide ซึ่งเป็นจอที่ให้พื้นที่ในการทำงานในแนวกว้างมากกว่าปกติ

ขนาดหน้าจอสำหรับใช้ทำงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในงานออกแบบกราฟิก อาจจะเริ่มจาก 24 นิ้วขึ้นไป ส่วนหนึ่งเพื่อให้มีพื้นที่มากพอ เมื่อเปิดตัวโปรแกรมและให้มองเห็นวัตถุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงต้องมีความละเอียดมากพอสำหรับการแสดงผล สังเกตได้จาก เมื่อเราใช้มอนิเตอร์ขนาดเดียวกัน แต่คนละความละเอียด ตัวที่มีความละเอียดมากกว่า จะให้ภาพได้ครบถ้วนมากขึ้น ดูง่าย ๆ คือ เมื่อเปิดโปรแกรมกราฟิกขึ้นมา จอภาพความละเอียดสูง จะแสดงเครื่องมือ (Tool) ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน และเปิดดูวัตถุในจอได้อย่างครอบคลุม ดังนั้น จอภาพขนาด 24″, 27″ หรือมากกว่า ก็จะช่วยให้การทำงานไหลลื่น และช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำงานได้ดีทีเดียว

ค่าความต่างของสี (Contrast Ratio)

นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการแสดงผลในการทำงานมีมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำให้สีดำนั้นแสดงออกมาดำที่สุด และสีขาวก็ขาวมากที่สุด จึงทำให้มีการแยกมิติของสีออกมาชัดเจนยิ่งกว่า อย่างเช่นการแสดงในฉากวิดีโอที่มืด แต่ก็ไม่ได้มืดเสียทีเดียว เพราะยังมีช่วงให้พอมองเห็นองค์ประกอบภายในบริเวณที่มืดได้บ้าง ตามพื้นของแสงที่ปรากฏขึ้นจริง ส่งผลต่องานตัดต่อและงานวิดีโอ เป็นต้น

แต่จะเลือกแบบไหนดี

จอมอนิเตอร์สำหรับทำงานในปัจจุบัน มีด้วยกันหลายรูปแบบ แต่ถ้าว่ากันตามสัดส่วนแล้ว จะเป็นหน้าจอแบบ Wide-screen ด้วยกันทั้งหมด แต่จะขึ้นอยู่กับ Ratio ของหน้าจอว่าจะเป็นแบบใด เพราะมีทั้ง Wide และ Ultra-Wide ส่วนจะเลือกแบบไหนขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้เอง

มอนิเตอร์ในแบบ Wide-screen : ถือเป็นจอภาพในแบบพื้นฐานทั่วไป ให้อัตราส่วนในการแสดงผลแบบ 16:9 เหมาะกับการใช้งานทั่วไป จนถึงซอฟต์แวร์มืออาชีพ เพราะให้สัดส่วนที่เข้ากับซอฟต์แวร์ได้โดยตรง มีความละเอียดให้เลือกตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น WQHD 2560 x 1440 หรือ HD 1920 x 1080 pixels ไปจนถึง Ultra HD หรือ (4K) 3840 x 2160 เป็นต้น

มอนิเตอร์ในแบบ Ultra-Wide screen : จะเป็นจอแบบที่เรียกว่ากว้างเป็นพิเศษ ซึ่งจอภาพในลักษณะนี้เหมาะกับการใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ที่ใช้พื้นที่ในแนวกว้าง เช่น โปรแกรมสำนักงาน งานเอกสารการเงินหรือในสายไอที ที่ใช้เป็นตารางเก็บข้อมูล หรือสามารถแบ่งครึ่งหน้าจอออกเป็น 2 ส่วน เพื่อใช้ซอฟต์แวร์ 2 แอพพลิเคชันได้พร้อมกัน เช่น เปิดดูหุ้นและทำงานเอกสารหลายหน้าต่างบนหน้าจอเดียวกัน ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ 24, 27, 29 นิ้ว ไปจนถึง 32-34 นิ้ว ให้ความละเอียดเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 2560×1080 pixels

ให้คุณภาพสีได้เที่ยงตรงและ Wide Gamut

หากเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความแม่นยำในเรื่องของสี เช่นในการออกแบบกราฟิก และจะต้องส่งพิมพ์ให้งานออกมาถูกต้องตรงกับชิ้นงาน จอภาพก็ต้องมีความแม่นยำของสีอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งจะสังเกตได้ว่า จอภาพที่ใช้ในการกราฟิกในช่วงที่ผ่านมา ยังต้องมีการ Calibrate หรือการวัดสีของหน้าจอให้เที่ยงตรงมากที่สุด

โดยในปัจจุบัน จะมีการพูดถึงเรื่องของค่าสีหรือ Wide gamut ให้ได้ยินกันบ่อย ๆ ซึ่งค่านี้จะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นขอบเขตของสีที่จอผลิตได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการทำงานอย่างมาก แบ่งออกเป็น Standard gamut ที่เราจะพบกันในจอภาพพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น TN หรือ IPS จะครอบคลุมรูปแบบสีประมาณ 70% และมีราคาไม่แพง ใช้งานกันอยู่ทั่วไป อีกแบบหนึ่งจะเรียกว่า Wide gamut จอประเภทนี้จะมีราคาแพง เนื่องจากการแสดงสีครอบคลุมไปกว่า 110% ของรูปแบบสี พูดสั้น ๆ คือ สามารถแสดงสีได้มากกว่าจอภาพที่เป็นแบบ Standard gamut อยู่มาก นั่นหมายความว่าจอภาพ Wide gamut จึงเข้าถึงสีได้ลึกกว่า และจัดกว่าจอภาพปกติทั่วไป ย่อมส่งผลต่องานออกแบบและงานพิมพ์ที่ใช้รายละเอียดของสีมากขึ้น

การเชื่อมต่อครบครัน

ในด้านการเชื่อมต่อก็จำเป็นต้องรองรับการต่อพ่วงจากแหล่งการแสดงผลต่าง ๆ ได้ครบถ้วนพอสมควร ในเบื้องต้นต้องสนับสนุนอย่างน้อย DVI ที่เป็นสัญญาณดิจิทัล ยิ่งหากเป็นงานที่ต้องการแสดงผลคุณภาพสูง อย่างเช่นสัญญาณดิจิทัลบนความละเอียดที่มากขึ้น เช่นในแบบ Full-HD ขึ้นไป จนไปถึง 4K ก็จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับพอร์ตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกทั้ง HDMI หรือ DisplayPort เป็นต้น หรือในจอภาพบางรุ่นอาจมาพร้อมจอแสดงผลในแบบเดียวกันมากกว่า 1 พอร์ต สำหรับรับสัญญาณจากอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อแสดงผลบนหน้าจอเดียวกัน ด้วยการแบ่งหน้าจอในการทำงานได้อีกด้วย เรียกว่าใช้งานได้อเนกประสงค์มากขึ้น

หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับฟังก์ชันในการปรับเลื่อนระดับหน้าจอของมอนิเตอร์ แต่กับคนทำงาน การปรับเลื่อนหน้าจอได้ในระดับหนึ่ง ก็มีส่วนช่วยให้การทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะบางครั้งการปรับให้ได้มุมของจุดที่ทำงานหรือการต้องมีอุปกรณ์อื่น ๆ เข้ามาใช้งานบนโต๊ะทำงาน และใช้ในการประชุม ก็อาจจะต้องขยับได้บ้าง เพื่อให้ผู้ที่ใช้จอร่วมกันสามารถมองเห็นได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายจอภาพให้ยุ่งยากเกินไป ที่สำคัญยังรองรับการต่อพ่วงจอภาพเพิ่มในอนาคต

เรียบเรียงโดย Black Pen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here