มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) รวมพลนักศึกษาอาจารย์จิตอาสาจากชมรมไท้เก๊กทั่วประเทศกว่า 1,000 คน รำไท้เก๊กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ณ สนามกีฬากลางมฉก.
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) รวมพลนักศึกษาอาจารย์จิตอาสาจากชมรมไท้เก๊กทั่วประเทศกว่า 1,000 คน รำไท้เก๊กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ณ สนามกีฬากลางมฉก. ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่มีผู้รำไท้เก๊กมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษประสิทธิ์ โฆวิไลกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ดำริริเริ่มไท้เก๊กในมหาวิทยาลัย หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติในสมัยที่ท่านเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยปรมาจารย์มวยบู๊ตึ๊ง (เอี๋ยน หลี เหมี๋ยน) แขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ร่วมชมการรำไท้เก๊ก ณ สนามกีฬากลาง มฉก. นอกจากนี้ได้รับเกียรติจากท่านวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมลงนามเป็นที่ระลึกและเป็นประธานเปิดการแข่งขัน ท่านกล่าวถึงการแข่งขันไท้เก๊กในครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันไท้เก๊ก มฉก. ครั้งที่ 4 ในวันนี้ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีที่มหาวิทยาลัยได้จัดการแข่งขันไท้เก๊กมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งผมคิดว่ามหาวิทยาลัยคงจะมีการจัดการแข่งขันเช่นนี้ต่อไปทุกปี เพราะมหาวิทยาลัยมีเอกลักษณ์ด้านไทย – จีน ที่โดดเด่นมาก รวมทั้งมีผู้ให้การสนับสนุนอยู่พอสมควรด้วยเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ของคนในสังคม การกำหนดให้นักศึกษาทุกคนได้เรียนไท้เก๊กนั้นผมถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีมาก เพราะไท้เก๊กนอกจากจะช่วยฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงสมดุลดีแล้วยังช่วยเจริญสติ พัฒนาจิตใจให้มีความสงบเย็น รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง นับเป็นการพัฒนาคุณภาพเยาวชนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นภาระแก่สังคม สามารถช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว บ้านเมืองต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี และยังเป็นรากฐานที่ดีของการดำรงไว้ซึ่งศาสตร์และศิลปะการต่อสู้อันทรงคุณค่าของมวลมนุษยชาติ” หลังจากนั้นท่านได้ให้เกียรติมอบโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้สนับสนุนการแข่งขันและอาจารย์จิตอาสาฝึกสอนรำไท้เก๊กให้แก่นักศึกษา ปิดท้ายด้วยชุดการแสดง ได้แก่ นาฏการหุ่นคนเทิดไท้องค์ราชัน และการรำมวยของปรมาจารย์มวยบู๊ตึ๊ง (เอี๋ยน หลี เมี๋ยน)
การแข่งขันเริ่มขึ้นในแต่ละประเภทการแข่งขัน ประกอบด้วย รำมวยตระกูลหยาง (ไม่จำกัดถ่วงท่า) รำมวย 24 ท่า 40 ท่า และ 42 ท่า รำกระบี่มาตรฐานการแข่งขัน 32 ท่า และ 42 ท่า รำพัดกงฟู ประเภทบุคคล และรำกระบี่ตระกูลหยาง นักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันมีตั้งแต่อายุ 5 ปี – 71 ปีขึ้นไป ได้ประลองท่วงท่าการรำไท้เก๊กให้ถูกต้องตามหลักสำคัญ 10 ประการได้แก่ 1.ศีรษะตั้งตรง แขวนลอย 2.เก็บทรวงอก ยืดแผ่นหลัง 3.ผ่อนคลายเอว 4.แบ่งแยกเท้าเต็ม-ว่าง 5.จมไหล่ ถ่วงศอก 6.ใช้จิต ไม่ใช้แรง 7.บน-ล่างประสานสอดคล้อง 8.ในนอกประสานรวมเป็นหนึ่ง 9.ต่อเนื่องไม่ขาดตอน และ 10.แสวงหาความสงบในการเคลื่อนไหว โดยคณะกรรมการทุกท่านต้องทำงานหนักเนื่องจากต้องพิจารณาท่วงท่าของทุกคนในสนามแข่งอย่างพินิจพิเคราะห์ซึ่งจะนั่งทั้ง 4 มุมของสนาม การแข่งขันดำเนินไปจนสิ้นสุดลงช่วงเช้า และเริ่มภาคบ่ายด้วยการแสดงจากชมรมไท้เก๊ก 17 แห่งทั่วประเทศซึ่งทุกชมรมได้ฝึกซ้อมและรอคอยเวลาที่จะได้มาแสดงบนเวทีแห่งนี้ เมื่อชุดการแสดงเสร็จสิ้นก็มาถึงเวลาสำคัญของการประกาศผลการตัดสิน แบ่งเป็น 3 รางวัลในแต่ละประเภท ได้แก่
เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง การแข่งขันปีนี้สิ้นสุดลงแต่จะเป็นการเริ่มต้นของนักกีฬารำไท้เก๊กทุกคนที่จะฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันครั้งต่อไปที่มหาวิทยาลัยจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในปี 2562
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเริ่มจัดกิจกรรมไท้เก๊กตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 มีนักศึกษาผ่านการเรียนไท้เก๊กกว่า 20,000 คน ปัจจุบันเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวที่สอนการรำไท้เก๊กและมีนักศึกษาเรียนวิชารำไท้เก๊กมากที่สุดในประเทศไทย โดยจัดแข่งขันครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเรียนรู้ศาสตร์ของไท้เก๊กเป็นเวทีแข่งขันประลองความสามารถด้านไท้เก๊ก และเป็นการบริการทางสังคม กิจกรรมไท้เก๊กของมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสมาคมไท้เก๊ก (ประเทศไทย) ชมรมไท้เก๊กมิตรสัมพันธ์ คณะที่ปรึกษาโครงการผู้มีอุปการคุณ คณะผู้ตัดสิน และวิทยากรจิตอาสาจากชมรมไท้เก๊กต่าง ๆ หากท่านใดสนใจการรำไท้เก๊กฝึกทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์พัทธนันท์ เลิศคุณอธินนท์ และอาจารย์อัจฉราพรรณ ช้างเขียว โทร.02-312-6300-79 ต่อ 1447 หรือแผนกประชาสัมพันธ์ต่อ 1140 อีเมล์ jiab.prhcu@gmail.com หรือ @Jiab1605