ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI) ประจำไตรมาส 1 ปี 2562 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ Startup ทั่วประเทศจำนวน 500 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี SSI ประจำไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 58.80 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ Startup ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ในไตรมาสที่ 1 มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น จากคู่แข่งในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากในและนอกประเทศ ส่งผลกระทบให้ยอดขายและคำสั่งซื้อมีการชะลอตัวลง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้งในบางพื้นที่ทำให้ผลผลิตบางชนิดออกมาได้น้อยโดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อย ส่งผลกระทบให้รายได้ของเกษตรกร กลุ่มนี้ชะลอตัวลง
สำหรับ ดัชนี SSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ Startup มีมุมมองต่อภาวะธุรกิจ Startup ในภาพรวมดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 67.52 โดยคาดหวังว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วงด้วยดี จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งหากการเจรจาการค้าไม่ประสบผลสำเร็จจะส่งผลกระทบต่อยอดขายและคำสั่งซื้อของสินค้าหลายประเภท แต่ในทางกลับกันสินค้าไทยบางประเภทอาจได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการซื้อจากจีน รวมถึงยังอาจได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของจีนและสหรัฐฯ เช่นกัน นอกจากนี้ ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่มีวันหยุดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่จะส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโดยรวมยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสที่ 1 ซึ่งส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาในแต่ละภาคธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การค้าและบริการ ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 53.08-61.16 แสดงถึงผู้ประกอบการ Startup ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม (สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50) โดยดัชนี SSI ในภาคการเกษตรอยู่ที่ระดับ 61.16 สูงที่สุดในทุกภาคธุรกิจ เนื่องจากเข้าสู่ ต้นฤดูกาลของผลไม้ที่ได้รับความนิยมจาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เช่น มะม่วง ทุเรียน และมังคุด ซึ่งในไตรมาสแรกนี้ผลไม้ดังกล่าวได้ผลผลิตดี ส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการภาคเกษตรบางส่วนมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูกและการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ Startup ยังคงมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตบางชนิดออกมาได้น้อย เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องโรคระบาดในสัตว์และแมลงศัตรูพืช สำหรับผู้ประกอบการ startup ในธุรกิจท่องเที่ยวยังเผชิญกับการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน และแนวโน้มนักท่องเที่ยว ชาวไทยที่เปลี่ยนจุดหมายจากการเที่ยวในประเทศเป็นการเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกลง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวกันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาด้านอุปทานที่มีการแข่งขันกันมากขึ้นในช่องทางออนไลน์ และปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือซึ่งมีต้นทุนค่าจ้างที่สูง ยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการของผู้ประกอบการที่เป็น Tech Startup
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่ายังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังติดตาม คือ ปัจจัยทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ Startup ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าจ้างแรงงานผู้มีทักษะเฉพาะทาง ค่าเชื้อเพลิงและวัสดุอุปกรณ์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ Startup ยังคงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในด้านเงินทุนโดยมีเงื่อนไขการกู้ยืมที่ยืดหยุ่นโดยให้พิจารณาคำสั่งซื้อหรือผลิตภัณฑ์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ และมีการผ่อนปรนการชำระหนี้เมื่อประสบปัญหา รวมถึงการร่วมลงทุนเพื่อขยายธุรกิจและลงทุนเพิ่มเติมในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ อีกทั้งสนับสนุนด้านการหาตลาดและเพิ่มความรู้ด้านการลงทุน การส่งออก การขยายธุรกิจ ภาษี ตลอดจนด้านเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น” ดร.ชาติชายฯ กล่าว