ธนาคารออมสินเผยผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบ ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 30,200 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 30,200 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 2,150 บาทลดลงจากปีก่อน เนื่องจากประชาชนฐานรากต้องการออมเงินเพิ่มขึ้น และระมัดระวังการใช้จ่าย
สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาล ปีใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่มาจากรายได้ (ร้อยละ 61.4) เงินออม (ร้อยละ 26.0) เงินกู้ยืม ซึ่งมีทั้งเงินกู้ในระบบและ นอกระบบ (ร้อยละ 6.2) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนจะพบว่าประชาชนฐานรากมีสัดส่วนการใช้เงินในช่วงเทศกาลปีใหม่จากการกู้ยืมน้อยกว่าปีก่อนและเป็นเงินกู้ยืมจากในระบบมากกว่าเงินกู้นอกระบบ นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนการใช้จ่าย จากเงินสนับสนุนภาครัฐในช่วงปีใหม่ที่เข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย(ร้อยละ 6.0) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรม และการจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ (1) สังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ร้อยละ 54.0 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,100 บาท (2) ทำบุญ/ ไหว้พระ/สวดมนต์ และให้เงินคนในครอบครัวร้อยละ 53.4 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 450 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ (3) ซื้อของขวัญ/ของฝาก ร้อยละ 45.0 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,300 บาท ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนแต่ละกิจกรรมกับปีก่อน พบว่า กิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวในการสังสรรค์ เลี้ยงฉลองให้เงินคนในครอบครัว และกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ในขณะที่วงเงินใช้จ่ายใกล้เคียงกับปีก่อน
ส่วนของขวัญ/ของฝากที่ประชาชนฐานราก คาดว่าจะซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า 3 อันดับแรก คือ อาหาร/ผัก/ผลไม้/ขนม (ร้อยละ 66.4) เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 50.2) และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ (ร้อยละ 41.5) ซึ่งสอดคล้องกับปีที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนฐานรากมีการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของขวัญ ลดลงกว่าปีก่อน ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 24.6 ในขณะที่ปีนี้มีเพียงร้อยละ 6.1 ของผู้ตอบแบบสอบถาม
สำหรับสถานที่ซื้อ และบุคคลที่ต้องการให้ของขวัญของฝาก พบว่า สถานที่ซื้อ 3 อันดับแรก คือ ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 45.0) ตลาด/ร้านค้าทั่วไป (ร้อยละ 35.5) และร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 22.5) อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกซื้อสินค้าผ่านร้านค้า Online ถือเป็นช่องทางที่เริ่มเข้ามามีบทบาทที่น่าสนใจของคนฐานราก โดยการสั่งซื้อที่ได้รับความนิยม คือ Lazada Shopee และ Facebook ส่วนบุคคล ที่ต้องการให้ของขวัญ คือ คนในครอบครัว (ร้อยละ 88.8) ผู้ใหญ่ที่เคารพ (ร้อยละ 37.9) ตนเอง (ร้อยละ 36.2) เพื่อน (ร้อยละ 10.6) และคู่รัก/แฟน (ร้อยละ 6.8)
เมื่อสอบถามถึงเป้าหมาย ที่จะทำในปีใหม่นี้ พบว่า ประชาชนฐานรากตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาชีวิตตนเองให้ดีขึ้น โดยจะออมเงิน (ร้อยละ 66.3) ลดรายจ่าย (ร้อยละ 47.2) และดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย เลิกเหล้า/บุหรี่ (ร้อยละ 42.4)
สิ่งที่ประชาชนฐานรากต้องการจากรัฐบาลเป็นของขวัญ ปีใหม่ 2562 พบว่า 3 อันดับแรก คือ ลดค่าครองชีพ (ร้อยละ 60.3) ลดราคาค่าเชื้อเพลิง (ร้อยละ 53.7) และให้มีการเลือกตั้ง (ร้อยละ 33.7)” นายชาติชายฯ กล่าว
ในภาพรวมจะพบว่า ประชาชนฐานรากมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับ ปีก่อน นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังมีการตั้งเป้าหมายที่จะออมเงิน และลดรายจ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนฐานราก มีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สำหรับการซื้อของขวัญของฝากจะเน้นเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพเหมือนปีที่ผ่านมา แต่พบว่าสัดส่วนการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนฐานรากเริ่มมีความสนใจการซื้อสินค้าผ่านร้านค้า Online ซึ่งหากภาครัฐมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ก็จะเป็นช่องทางให้คนฐานรากสามารถเข้ามาเป็นผู้ซื้อ/ขายได้มากขึ้น