ออมสิน จับมือ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ผลักดันโครงการ “มหาวิทยาลัยประชาชน” และ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Startup และ SMEs มุ่งส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ช่วยผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นความยากจน
วันนี้ (11 พฤษภาคม 2561) ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ระหว่าง ธนาคารออมสิน กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ โดยมี นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจำนวน 38 แห่ง เข้าร่วมในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ภูมิปัญญาและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP องค์กรชุมชน / กลุ่มอาชีพในชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการ SMEs Startup รวมถึงการฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้รับการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ มีความรู้ความสามารถและมีระดับทักษะที่สูงขึ้น จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต โดยการลงนามในครั้งนี้จะร่วมมือกันดำเนินการใน 3 กิจกรรม
กิจกรรมแรก โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน โดยธนาคารออมสินร่วมมือสถาบันอุดมศึกษาตามภูมิภาคทั่วประเทศในการเป็นเครือข่ายจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้แนวคิด “ความรู้สู่อาชีพ พร้อมเงินทุน” เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถ นำทักษะไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน เลิกพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ยกระดับรายได้ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ซึ่งรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ ตามพื้นที่ของที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 18,000 คน
สำหรับกิจกรรมที่ 2 คือ การเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วย โครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ซึ่งธนาคารฯ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่กระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ เห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ของนักศึกษามาพัฒนายกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการในท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ อย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมเรียน ร่วมรู้ และร่วมทำ เพื่อช่วยกันจรรโลงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้อยู่คู่สังคมไทย สมดังคำกล่าวที่ว่า “พัฒนาความรู้ เสริมภูมิปัญญา สร้างคุณค่าเศรษฐกิจชุมชน”
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า กิจกรรมที่ 3 คือ การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่เข้มแข็ง เติบโตและยั่งยืนนั้น ธนาคารได้จัดทำโครงการ GSB Startup Academy ซึ่งมีโครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ GSB Innovation Club และ Startup University Model สำหรับกิจกรรมภายใต้โครงการ GSB Innovation Club จะสนับสนุนการสร้าง CO-Working Space และจัดกิจกรรม Smart Start Idea และ Smart Start Company สำหรับเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่วนโครงการ Startup University Model เป็นโครงการที่ธนาคารฯ จะให้เงินสนับสนุนในการสร้าง/พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Proto type) หรือผลิตสินค้าจริง (Product) ให้แก่ทีมนักศึกษาที่มีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ในการนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ให้เกิดสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรม ขณะที่โครงการ GSB Startup Academy นี้ ธนาคารฯ มุ่งหวังว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยสร้างผู้ประกอบการ SMEs Startup ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อน้องๆ ได้ทดลองคิดไอเดียสร้างสินค้าต้นแบบ ได้ทดลองทำธุรกิจจริงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการออกมาสู่สนามการดำเนินธุรกิจจริง และเป็นจะเป็น Key Driver ใหม่ที่จะนำพาเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป
“ธนาคารออมสินได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล ในการเสริมสร้างโอกาสทางการเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความยากจน โดยธนาคารฯ ตั้งเป้าหมายว่า ผู้ได้รับสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนกับธนาคารออมสิน 1 ล้านคน จะต้องหลุดพ้นจากความยากจนภายในปี 2563 ภายใต้กรอบแนวทางการทำงานด้วยยุทธศาสตร์ 3 สร้าง คือ 1.สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนไทย ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน เพื่อฝึกอบรมเสริมศักยภาพทางอาชีพ โดยใช้เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ในทุกภูมิภาค และโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” เข้ามาช่วย รวมทั้งเร่งอบรมยกระดับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ให้เข้มแข็ง 2.สร้างตลาด ด้วยการเปิดช่องทางการตลาดเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสขายสินค้าและบริการ เช่น ตลาดประชารัฐสีชมพู ร้านค้าประชารัฐ และออมสิน e-Market Place ซึ่งครอบคลุมช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้ง Online และ Offline เป็นการช่วยสนับสนุนสินค้าและบริการของผู้มีรายได้น้อยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และ 3.สร้างประวัติทางการเงินให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ โดยส่งเสริมการชำระเงินผ่าน QR Code เพื่อนำไปสู่การออมโดยอัตโนมัติ เป็นการสร้างประวัติทางการเงิน นำไปสู่การขอสินเชื่อหรือการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ต่อไป” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด.