กว่าจะมาเป็นนวัตกรรมภาครัฐ หรือ GovTech ที่ใช้งานได้จริง จุดสำคัญของการพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เพราะถ้าทำไปแล้วคนไม่ใช้งาน ก็ไม่เกิดประโยชน์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พาไปฟังมุมมองของผู้ใช้ในหลากหลายอาชีพ ที่มีความคิดเห็นต่อเทคโนโลยีภาครัฐ และสิ่งที่พวกเขาเป็นกังวล
เสียงจากผู้ใช้งานบอกว่า นวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ช่วยลดขั้นตอน เพิ่มความรวดเร็ว แต่สิ่งที่พวกเข้าต้องการคือการเข้าถึงและใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่นแอปพลิเคชั่นที่มีความคล้ายคลึงกัน กลับอยู่แยกส่วนหรือทับซ้อนระหว่างหน่วยงานทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ
ขณะที่บางนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ไม่มีความเคลื่อนไหว หรือใช้งานไม่ได้จริง เนื่องจากติดปัญหาขั้นตอนการใช้งานที่ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยียังไม่สามารถทำแทนคนได้ทั้งหมด รวมถึงความผิดพลาดของระบบที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึง
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA มองว่า ประเด็นความท้าทายของ GovTech ในประเทศไทย คือ ทำอย่างไรให้ GovTech ช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับระบบยุติธรรม และช่วยลดคอรัปชั่นในระบบราชการไทยได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง
อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญที่อยู่ในความกังวลของประชาชนคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่ภาครัฐร้องขอในขั้นตอนลงทะเบียนเข้าใช้งาน ซึ่งผู้ใช้ยังไม่มั่นใจว่าหน่วยงานภาครัฐมีระบบจัดเก็บข้อมูลและการป้องกันที่ดีพอหรือไม่ ท่ามกลางข่าวการรั่วไหลของข้อมูลที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ครอบอยู่ก็ตาม นี่จึงเป็นอีกสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรมจะต้องให้ความสำคัญ
ในตอนต่อไปของ ซีรีส์ “GovTech Next Move” NIA จะพาไปฟังเสียงของผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผ่านหน่วยงานภาครัฐที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายของการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐให้สำเร็จ
ร่วมเปลี่ยนอนาคตด้วยนวัตกรรม เจาะลึกเบื้องหลังเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ติดตามต่อได้ในซีรีส์ GovTech Next Move ทาง Techhub และ BrandThink
ย้อนดู EP.1 GovTech Next Move นวัตกรรมภาครัฐเปลี่ยนชีวิต
#GovTech #GovTechNextMove #NIA #นวัตกรรมภาครัฐ #startup