นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดของผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยในด้านหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน รวมถึงขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานจากการขายสินค้าให้กับภาครัฐหรือเอกชน แต่ยังไม่ได้รับเงิน จึงมอบให้สถาบันการเงินของรัฐออกผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้ “โครงการสินเชื่อพิเศษเสริมสภาพคล่อง SMEs” ประกอบด้วยสถาบันการเงิน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสินจึงได้ร่วมออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อพิเศษ “โครงการสินเชื่อหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องเพิ่มเครดิตการค้า
สำหรับโครงการสินเชื่อหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องเพิ่มเครดิตการค้า เป็นสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนที่ให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยการเปลี่ยนสัญญาซื้อขายและลูกหนี้การค้าเป็นเงินสด ซึ่งธนาคาร ได้เตรียมวงเงินโครงการไว้กว่า 5,000 ล้านบาท มีวงเงิน Pre-Finance เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าและการก่อสร้าง สามารถเบิกสูงสุดได้ถึง 50% ของงวดงาน รวมกันไม่เกิน 30% ของมูลค่าสัญญาและ มีวงเงินรับซื้อ Post-Finance สำหรับลูกหนี้การค้าที่เป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทในตลาดหลัทรัพย์ บริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ได้สูงสุด 80% ของงวดงาน
สำหรับลูกค้าที่มีหลักประกัน ธนาคารฯ ยังมีสินเชื่อ GSB SMEs ดีเว่อร์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ในปีแรก โดยสามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้ ฟรีค่าธรรมเนียมถึง 7% ตลอดระยะเวลา 4 ปี สามารถยื่นขอสินเชื่อและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561
“ธนาคารออมสินเชื่อว่าโครงการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการ SMEs ที่มีศักยภาพได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องหลักประกันอีกต่อไป ทั้งยังช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs อีกด้วย และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานพันธมิตรทั้ง 3 ท่านที่มาผนึกพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ธนาคารกรุงไทย พร้อมให้การสนับสนุนวงเงินการค้ำประกันรวม 12,000 ล้านบาท ผ่านแคมเปญกรุงไทยให้ 4 คุ้ม ได้แก่ (1) ฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 4 ปีแรก รวม 7% (2) คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 6% ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน (3) ปลอดเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และ (4) สนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้กับลูกค้า SME เพิ่มอีก 20% ซึ่งวงเงินสินเชื่อที่เพิ่มนี้ ลูกค้าสามารถใช้บสย.ค้ำประกันได้ 100%
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ที่ใช้ บสย.ค้ำประกันมีต้นทุนต่ำและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น ธนาคารกรุงไทยยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อกรุงไทยช่วย SME 4.0 สำหรับ SME กรณีที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร สามารถใช้บสย. ค้ำประกันได้ 100% อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี รวมถึง สินเชื่อ KTB CLMV ที่ช่วยสนับสนุนลูกค้าที่ทำธุรกรรมการค้ากับกลุ่มประเทศ CLMV โดยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 4.4% ต่อปี” นายผยง กล่าว
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารมีโครงการสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน รวมวงเงินโครงการ 7,500 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ/หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการในชุมชนและภูมิภาคในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ รวมทั้งเสริมสภาพคล่องในการต่อยอดกิจการ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบาย Local Economy ของรัฐบาลในจังหวัดต่างๆ
โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ตั้งอยู่แหล่งท่องเที่ยว หรือในหมู่บ้านอุตสาหรรมสร้างสรรค์ CIV หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือตลาดต้องชม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านหนูณิชย์ติดดาว รถจำหน่ายอาหาร (food truck) และผู้ประกอบการธุรกิจที่มีการเก็บรักษาสต็อคสินค้า หรือวัตถุดิบผลไม้ หรือผลผลิตทางการเกษตรเพื่อนำไปผลิตหรือจำหน่ายให้กับธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ผู้ประกอบการสามารถกู้ได้สูงสุด 100% ของมูลค่าแฟรนไชส์ กำหนดวงเงินสินเชื่อสำหรับบุคคลธรรมดาต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ วงเงินต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท และสำหรับนิติบุคคล วงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท ทั้งนี้ ในวงเงิน 5 ล้านบาทแรก ไม่ต้องใช้หลักประกัน สามารถใช้ บสย. คำประกันได้
“ผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสงค์จะยื่นกู้เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเดิม และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ลูกหนี้โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 7 ปี อัตราดอกเบี้ยกรณีใช้หลักประกันตามเกณฑ์ธนาคาร ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.5 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.0 ต่อปี กรณีใช้หลักประกัน บสย. คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR ต่อปี โดยลูกค้าจะได้รับการช่วยเหลือค่าธรรมเนียม บสย. ฟรี 4 ปี ปีละ 1.75% รวม 7% โดยรัฐบาลช่วยเหลือ 4% และอีก 3% เป็นการช่วยเหลือจาก ธพว. ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ชำระหนี้ปกติตามเกณฑ์ของ ธพว.” นายมงคล กล่าว
นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SME ทวีทุน (PGS ระยะที่ 6) ปรับปรุงใหม่ วงเงิน 81,000 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2560 ภายใต้เงื่อนไขใหม่ ที่สร้างแรงจูงใจให้กับธนาคารที่ร่วมโครงการปล่อยสินเชื่อได้มั่นใจขึ้น กล่าวคือ ทั้งรัฐบาล และ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ได้ร่วมกันรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs 4 ปีแรก โดยบสย.ได้เพิ่มสัดส่วนค่าประกันชดเชยให้สถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจาก 23.75% เป็น 30%
“บสย.มั่นใจว่า จากมาตรการดังกล่าว และแนวทางความร่วมมือนี้คาดว่านอกจากจะเร่งผลักดันให้ธนาคารยินดีปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs แล้ว คาดว่าจะส่งผลในเชิงเศรษฐกิจตลอดครึ่งปีหลัง สามารถช่วยให้ SMEs ได้รับสินเชื่อรวมกว่า 27,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 136,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มรวมประมาณ 108,000 คนและสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 371,000 ล้านบาท” นายนิธิศ กล่าว