ใช้ Gmail อยู่ทุกวัน คุณรู้จักมันดีแค่ไหน?
เมื่อความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ไม่ได้จำกัดแค่ประวัติท่องเว็บ และพฤติกรรมการใช้งานโซเซียลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อมูลอีเมลมหาศาลที่ถูกส่งเข้ามาใน inbox แต่ละวัน ที่ไม่อาจรอดพ้นจากการถูกส่อง เก็บประวัติ ติดตามและเรียนรู้สิ่งที่คุณสนใจเช่นกัน
Gmail เป็นบริการอีเมลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีผู้ใช้งานมากกว่า 1.5 พันล้านคน เทียบกับ Microsoft Outlook ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ราว 400 ล้านคน ซึ่งมากพอที่จะติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้ได้แบบไม่รู้ตัว
ถึงแม้ว่าเมื่อปี 2560 Google เคยประกาศว่าจะหยุดสแกนเนื้อหาในอีเมลเพื่อประโยชน์ของโฆษณา แต่หากสังเกตให้ดีในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มมีโฆษณาโผล่ขึ้นมาใน inbox ของ Gmail มากขึ้น ด้วยเหตุผลเพื่อพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน อย่างการบันทึกนัดหมายลงในปฏิทินได้แบบอัตโนมัติ จึงจำเป็นเข้าถึงเนื้อหาในอีเมล
ในขณะที่ผู้ใช้งานเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูล และความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
Google ได้อะไรจากการส่องอีเมลคุณ
อีเมลนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่กำลังทำโฆษณาอยู่ สามารถส่งตรงถึงคนที่มีความต้องการ หรือกำลังสนใจสินค้าผ่านทางอีเมล ได้โดยไม่จำเป็นต้องสมัครรับข้อมูล หรือกดติดตามในช่องทางโซเชียล
โฆษณาที่ถูกส่งผ่านอีเมลมีความสามารถในการเรียนรู้พฤติกรรม ความสนใจของคุณ จากเครื่องมือติดตามที่แผงมาในภาพ หรือลิงก์ ที่บอกได้ว่า คุณเปิดอีเมลมตอนไหน ใช้เวลากับเนื้อหานานมั้ย และลิงก์ใดที่ทำให้คุณตัดสินใจคลิกบ้าง ลงลึกไปถึง ที่อยู่ และเครือข่ายที่ใช้งาน หากคุณกดอ่านมันบนมือถือ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วเราจำเป็นต้องเลิกใช้อีเมลไปเลยหรือไม่ ถ้ากลัวว่าข้อมูลจะรั่วไหล ในเมื่อโลกออนไลน์ไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป ผมมองว่ายังไม่ถึงขนาดต้องเลิกใช้ แต่ต้องรู้ทันเทคโนโลยี
ทุกวันนี้มีเครื่องมือมากมายที่ช่วยจัดการกับด้านลบของเทคโนโลยี ที่เราสามารถเลือกใช้ได้ เช่น การเลือกที่จะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในอีเมล รวมถึงติดตั้ง เครื่องมือบล็อกตัวติดตามออนไลน์ เช่น Privacy Badger หรือ Ghostery
หากคุณใช้ iPhone สามารถล็อก Gmail ให้เป็นส่วนตัวได้ โดยเลี่ยงใช้งานอีเมลบนแอปของ Google โดยตรง และเปลี่ยนไปใช้งานผ่านเบราว์เซอร์อื่น อย่าง Safari ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องเก็บข้อมูลโฆษณามากเท่ากับของ Google แทน น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้