[และเสถียรด้วย] แต่เดิมในโน้ตบุ๊กรุ่นเก่า ๆ หากแงะก้อนแบตฯ ออกมา ก็จะเจอกับถ่านจำนวนหนึ่งภายใน และจะเป็นอย่างไร หากมีคนนำก้อนถ่านเหล่านี้ มาสร้างเป็นแหล่งพลังงานสำรอง ที่มากพอจนจ่ายไฟบ้านได้ทั้งหลัง และใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 8 ปี โดยที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย
ตามข้อมูลจากทาง UN เผยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 1 ใน 4 ทั่วโลกเท่านั้น ที่ได้รับการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม การยืดอายุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ ล่าสุดมีคนหนึ่งทำสำเร็จแล้ว ด้วยการใช้แบตฯ โน้ตบุ๊กรุ่นเก่านับพันก้อน มา DIY ทำเป็นแหล่งพลังงานสำรองได้จริง
Glubux ผู้ใช้เว็บบอร์ด Second Life Storage ได้เผยรายละเอียดงาน DIY ดังกล่าว โดยเริ่มงานครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2016 ซึ่งตอนนั้นได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1.4 กิโลวัตต์ พร้อมด้วยแบตฯ จากรถยกขนาด 24V-460Ah รุ่นเก่า กับตัวช่วยควบคุมและชุดอินเวอร์เตอร์ขนาด 3kVA
ต่อมา Glubux ต้องการขยายความจุแบตฯ โดยขอใช้งบไม่มาก จึงไปรวบรวมแบตฯ จากโน้ตบุ๊กรุ่นเก่าประมาณ 650 ก้อน มาประกอบเป็นชั้นวางที่กำหนดเอง ซึ่งแต่ละชุดได้รับการออกแบบให้จุได้ประมาณ 100Ah โดยถูกเชื่อมต่อกันอย่างระมัดระวัง และใช้สายทองแดงอย่างดี เพื่อการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ
ในช่วงแรกก็มีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง เช่น พบแบตฯ มีอัตราการคายประจุที่ไม่สม่ำเสมอ สืบเนื่องจากแบตฯ แต่ละชุดใช้จำนวนเซลล์ต่างกัน ทางผู้สร้างจึงต้องคอยปรับสมดุลแบตฯ และเพิ่มจำนวนเซลล์ที่จำเป็น ไป ๆ มา ๆ ก็มีแบตฯ มากถึง 1,000 ก้อนแล้ว
สำหรับตัวชุดแบตฯ ทั้งหมดนั้น ก็ตั้งอยู่ในโรงเก็บของเล็ก ๆ โดยอยู่ห่างจากบ้านผู้สร้างประมาณ 50 เมตร และประสิทธิภาพที่ได้นั้น พบใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองให้กับบ้านทั้งหลังได้เลย จ่ายไฟให้เครื่องซักผ้าก็ยังได้ และใช้งานต่อเนื่องมาแล้ว 8 ปี แต่ก็ไม่พบอาการแบต ฯ บวม หรือเหตุไฟไหม้อะไรเลย อีกทั้งตัวแบตฯ ก็ไม่มีการเปลี่ยนใหม่แม้แต่ก้อนเดียวด้วย เรียกได้ว่าคุ้มค่ากับที่ลงแรงไปอย่างมาก แม้ต้องใช้ทั้งความอุตสาหะและความรู้ทางเทคนิคพอควร
ปัจจุบันทางผู้สร้างได้อัปเกรดแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ จนผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนหรือซ่อมชุดแบตฯ สำรองจากโน้ตบุ๊กเหล่านี้เลย หากใครสนใจรายละเอียดทั้งหมด ลองดูเพิ่มเติมได้ที่ https://secondlifestorage.com/index.php?threads/glubuxs-powerwall.126/page-2
ที่มา : Techspot