จับตา Oculus ส่วนสำคัญสร้าง Metaverse หลัง Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta

หลายคนคงเห็นข่าวใหญ่แล้วว่า Facebook เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “Meta” เรียบร้อย (แต่ชื่อ Facebook ยังอยู่นะ) พร้อมกับเป้าหมายครั้งใหม่ และใหญ่กว่า Facebook เลยคือ การสร้าง Metaverse เทคโนโลยีโลกเสมือนทั้งใบขึ้นมา คำถามคือทำยังไง ? มีเครื่องมืออะไรที่ทำให้เราเข้าสู่โลกที่ว่านี้ได้ ส่วนนี้จึงกลายเป็นไฟสปอร์ตไลท์ ฉายแสงไปยัง Oculus แบรนด์แว่น VR ที่ Meta เป็นเจ้าของอยู่นี้เอง
 

Oculus คืออะไร

 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับแบรนด์ Oculus ซักเล็กน้อย ย้อนกลับไปในปี 2014 ทาง Facebook ได้ประกาศเข้าซื้อ Oculus แบรนด์แว่น VR ชื่อดัง ณ ขณะนั้น ซึ่งเข้าซื้อในมูลค่าสูงถึง 16,500 ล้านบาท อีกทั้งผู้ก่อตั้งคือ Palmer Luckey เด็กหนุ่มอายุเพียง 22 ปีเท่านั้นด้วย (ก่อนจะลาออกในปี 2017 และปัจจุบันกลายเป็นผู้ก่อตั้ง Anduril บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการทหาร)

Palmer Luckey
จุดเด่นของ Oculus คือ ‘เข้าถึงไม่ยาก’ และ ‘มีคุณภาพ’ สืบเนื่องจากสมัยนู้น แว่น VR ส่วนใหญ่จะเป็น Prototype อยู่ในระหว่างการพัฒนา การซื้อขายจึงทำไม่ได้ง่ายนัก และยังมีราคาสูงอีกด้วย แถมยังส่วนทางกับคุณภาพที่ไม่ ‘เสมือนจริง’ อย่างที่คุยอีก เป็นเหตุให้ Oculus ได้พัฒนาแว่น VR ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถซื้อได้อย่าง Oculus Rift ต่อมาทาง Facebook ได้นำไปพัฒนาต่อ จนกลายเป็น Oculus Rift S กับ Oculus Quest และ Oculus Go ในเวลาต่อมา (แต่ไม่มี Rift 2)
 

จาก Oculus สู่ Facebook Reality Labs

 

หลังอดีตผู้ก่อตั้งอย่าง Palmer Luckey ไม่อยู่แล้ว Facebook ก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่อแผนก Oculus Research ใหม่เป็น Facebook Reality Labs (หลังใช้ชื่อ Meta ปัจจุบันก็กลายเป็น Reality Labs) ที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี AR / VR โดยเฉพาะ พร้อม ๆ กับการพัฒนาตัวแว่น Oculus ด้วยเช่นกัน เวลาผ่านไป ก็มีการเปิดตัว Infinite Office ออฟฟิศเสมือนจริง ที่รวมทั้ง AR กับ VR แสดงผลผ่านแว่น Oculus Quest 2 (ซึ่งมีกล้องติดอยู่) อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Metaverse ของบริษัท Meta ณ ตอนนี้ก็ว่าได้

 

ความหวังอยู่ที่ Reality Labs แล้ว

 

จุดแข็งสำคัญของ Meta หรือ Facebook เดิม คือมีทั้งเซิร์ฟเวอร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ ซึ่งอยู่ในมือทั้งหมดเลย เรื่องของเซิร์ฟเวอร์ กับ ซอฟต์แวร์ ก็เป็นสิ่งบริษัทประสบความสำเร็จมาตลอด (แม้จะมีดับไปบ้าง…) แต่กับเครื่องมือจาก Reality Labs หรือแว่น Oculus เดิม ต้องบอกตามตรงว่า ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก ตัวเครื่องมืออย่างแว่น Oculus Quest 2 ก็ถูกวิจารณ์ว่าแย่กว่ารุ่นเดิมด้วยอีก

แต่ถึงอย่างไร แว่น VR ก็คือช่องทางสำคัญในการเข้าสู่โลก Metaverse รองจาก AR และจออุปกรณ์พกพา แน่นอนว่าหลังจากนี้แผนก Reality Labs ย่อมถูกทาง Meta หรือ Mark Zuckerberg ซีอีโอคนปัจจุบัน (และอีกต่อไป) ตั้งความหวังไว้สูงแน่ แต่จุดนี้ก็มีข้อดีตรงที่บริษัท เตรียมสนับสนุนการพัฒนาแว่น VR เต็มกำลัง ยิ่งกว่าก่อนด้วยเช่นกัน

อิงได้จากทาง Andrew Bosworth หัวหน้าฝ่าย AR/VR หลังมีข่าวเปลื่ยนชื่อ ก็ได้แถลงการณ์ผ่านโพสต์ Facebook ส่วนตัวด้วยว่า ทีม Reality Labs จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการก้าวสู่ Metaverse ในอนาคต
 
พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ตอนนี้บริษัทมีการจัดตั้งทีมเตรียมลุย Metaverse มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทีม AI, ทีม Workplace ทีมพัฒนา Platform และการสนับสนุนด้านต่าง ๆ โดยมีอีกเป้าหมายใหญ่คือ

“นำผู้คน 1 พันล้านคนเข้าสู่ VR ให้ได้ !!”

 

Bosworth กล่าวอีกว่า ทางทีมต้องการทำให้ชัดเจนว่า Oculus Quest เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจาก Meta จริง ๆ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อ Oculus กลายเป็น Meta เรียบร้อย ซึ่งหลังจากนี้ Oculus Quest จะเป็น Meta Quest หรือ Meta VR กับ Oculus App เป็น Meta Quest App รวมไปถึง Facebook Portal ก็จะเป็นที่รู้จักในชื่อ Meta Portal ในอนาคตด้วย

Andrew Bosworth กับจอ Portal
Bosworth ทิ้งท้ายอีกว่า แว่น Meta VR หรือระบบจาก Meta Quest ต่อไปไม่มีบัญชี Facebook ก็ใช้งานได้เลย เป็นการแสดงให้เห็นว่าทางบริษัท Meta เห็น Facebook ที่เคยเป็นผลิตภัณฑ์หลัก กลายเป็นผลิตภัณฑ์รองเรียบร้อย และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse มากขึ้น รอดูกันว่าโลก Metaverse ที่ Mark Zuckerberg ปรารถนา จะออกมาในรูปแบบไหนและ ‘สมบูรณ์แค่ไหน’ กันครับ
 
ที่มา : AndrewBosworth(Boz) , Engadget