กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันใหญ่โตเมื่อไม่นานนี้ กับกรณีของ Facebook ที่กลายเป็นเป้าโจมตีของหลายฝักหลายฝ่ายที่เชื่อว่าบน News Feed มีการแสดง “ข่าวลวง” ของการเลือกตั้ง จนมีผลทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องพลิกล็อคถล่มทลายด้วยชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เหนือฮิลลารี คลินตัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวถูกชี้แจงโดย Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook ที่ออกมายอมรับเองว่ามีการปล่อยข่าวลวงจริง แต่แค่เศษเสี้ยวหนึ่งของผู้ใช้กว่าพันล้านคนเท่านั้นเอง … พร้อมรับปากว่าจะหาวิธีจัดการข่าวลวงให้ได้ ซึ่งหากมองในความเป็นจริงจะสามารถทำได้จริงหรือ ?
เราไม่ต้องไปมองไกลถึงอเมริกาครับ มองง่ายๆ ที่ประเทศไทย เชื่อว่าคนใช้ Facebook ในบ้านเรามีจำนวนมากและจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากนับรวมบรรดาแฟนเพจอีกหลากหลายประเภทด้วยแล้วก็ต้องยอมรับครับว่าบัญชีผู้ใช้ Facebook ในไทยมีเยอะมากๆ ด้วยความเป็นพื้นที่ที่เปิดให้บริการฟรี !! โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้ใครๆ ก็สามารถสร้างบัญชีส่วนตัวได้ สามารถเปิดแฟนเพจเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับการทำธุรกิจ เป็นพื้นที่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวสารพัดสิ่งอย่างได้ และยิ่งในยุคนี้ Facebook ได้กลายเป็นพื้นที่ใหม่ที่สื่อมวลชนนำมาใช้เพื่อนำเสนอข่าวสารต่างๆ นอกเหนือจากสื่อเดิม อาทิ ทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์
ด้วยความง่าย ในการสร้างบัญชี Facebook ทำให้ผู้คนบางกลุ่มสามารถใช้พื้นที่เพื่อสร้าง “ข่าวลวง” ซึ่งจุดประสงค์ของการกระทำดังกล่าวไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด อาจเกิดจากความต้องการยอด Like ยอดคลิกให้กับเว็บไซต์ ต้องการบิดเบือนความจริง สร้างทัศนคติที่ไม่ดีให้กับผู้อ่าน และที่ร้ายกาจที่สุด คือการสร้างความเกลียดชังให้กับตัวบุคคล โดยที่บุคคลนั้นอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวใดๆ เลยก็เป็นได้ ดังเช่น ข่าวลวงเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีการโพสต์ข้อความว่า “มีพนักงาน KFC ใช้เท้าหมักปีกไก่ ก่อนนำไปทอด” แถมมีการนำหน้าของพนักงาน KFC ชายรายหนึ่งมาแสดงให้เห็นด้วย แต่สุดท้ายเมื่อมีการตรวจสอบพบกว่าข่าวดังกล่าวเป็น “เรื่องหลอกหลวง” และผู้ชายที่ถูกนำใบหน้าไปแอบอ้างก็ได้ออกมาชี้แจงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง (สามารถค้นหาได้จากแฟนเพจ Drama-addict)
กรณีดังกล่าวพบว่ามีการสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมา โดยชื่อเว็บมีความคล้ายกับชื่อของสำนักข่าวชื่อดังของเมืองไทยรายหนึ่ง และที่น่าเศร้าใจ คือ ผู้ใช้ Facebook บางรายกลับหลงเชื่อ มีการกด Like กดแชร์ พร้อมคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นาๆ ซึ่งส่วนหนึ่งของที่ทำให้ข่าวลวงเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วก็ต้องยอมรับครับว่าด้วยปริมาณข้อมูลมหาศาลที่แสดงอยู่บน News Feed มีผลต่อ “สมาธิ” ของผู้ใช้ การพาดหัวข่าวให้ดูแรง มีภาพประกอบที่ดึงดูด สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ใช้ รวมถึงเรื่องราวบางอย่างมีผลต่อความรู้สึก ตอบสนองต่อความคิดที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ จนทำให้ข่าวลวงมีการกด Like กดแชร์ อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปแต่อย่างใด
Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook
สถานการณ์ของข่าวลวงที่กำลังเป็นปัญหาของ Facebook ทำให้เกิดคำถามถึง Mark Zuckerberg ว่าจะมีวิธีการกำจัดข่าวลวงนี้ได้อย่างไร ? เพราะหากมองในความเป็นจริงแล้วจะพบว่าประชากรหลายพันล้านคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและ Facebook ได้ สามารถสร้างบัญชี กำหนดชื่อ สร้างโปรไฟล์ขึ้นเอง ก่อให้เกิดการสร้างเรื่องราวที่ไม่เป็นจริงจากกลุ่มบุคคลที่แอบแฝงจุดประสงค์ร้ายได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่ Facebook ทำได้ในเวลานี้ คือ การขอความร่วมมือให้ผู้ใช้ช่วยกันสังเกต ตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏบน News Feed ให้มากขึ้นพร้อม “รายงานปัญหาโพสต์” (Report post) แถบเครื่องมือที่จะปรากฏอยู่ทุกโพสต์ เพื่อรายงานโพสต์ที่เข้าข่ายเป็นข่าวลวงไปยัง Facebook ขณะที่การคิดค้นอัลกอริธึมใหม่เพื่อนำมาใช้ตรวจสอบและกำจัดข่าวลวงคงไม่ง่ายนักที่จะทำให้เกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน หาก Facebook ไม่สามารถคิดหาวิธีได้เอง การขอความร่วมมือจากบริษัทเทคโนโลยีรายอื่นก็นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ Mark Zuckerberg
เราในฐานะคนใช้ Facebook ทำอะไรได้บ้าง
ถึงตอนนี้คงบอกไม่ได้หรอกครับว่า ข่าวลวงจะมีมาเมื่อไหร่ จะมากับเรื่องใดที่ทำให้คนหลงเชื่อ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเกิดขึ้นหรือปรากฏบน News Feed สิ่งที่เราในฐานะผู้ใช้ Facebook ทำได้ คือ การใช้วิจารณญาณ สังเกตการพาดหัวข้อข่าว ลิงค์ที่นำมาโพสต์ให้มากขึ้น ใช้เวลาเพิ่มอีกนิดก่อนกด Like กดแชร์ หากลังเลว่าข้อมูลที่เห็นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ลองเช็คตามแฟนเพจของสำนักข่าวต่างๆ ว่ามีการนำเสนอข่าวนั้นหรือไม่ หากพบว่าเป็นข่าวลวงสามารถ “รายงานปัญหาโพสต์” (Report post) แจ้งไปยัง Facebook ได้ทันที แม้อาจจะต้องใช้เวลานานกว่า Facebook จะจัดการปัญหา แต่อย่างน้อยๆ การเริ่มต้นคนละไม้ คนละมือ ย่อมมีพลังมากกว่าเครื่องมือใดๆ เป็นไหนๆ ครับ