โลกยุคดิจิทัลยุคใหม่ ได้พาให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในแทบทุกวงการ แม้แต่ในวงการแพทย์ ที่การเรียนรู้และการฝึกฝนต้องอาศัยความแม่นยำ ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการเรียนการสอน
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ได้นำเทคโนโลยี VR มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนกายวิภาคศาสตร์ ทำกายวิภาคเสมือนจริง นักศึกษาแพทย์สามารถเรียนกายวิภาคผ่านระบบ 3 มิติ ด้วยแว่น VR จำนวน 20 ตัว ก่อนลงมือผ่าตัดจริงกับร่างอาจารย์ใหญ่
VR สร้างประสบการณ์เสมือนจริงเหนือชั้น
นวัตกรรมนี้เริ่มต้นจากการสแกนร่างอาจารย์ใหญ่ สร้างเป็นโมเดล 3 มิติ แสดงรายละเอียดอวัยวะต่าง ๆ อย่างชัดเจน นักศึกษาแพทย์สามารถสำรวจอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด เสมือนจริง สามารถจับแยก จำแนกได้หมด
ประโยชน์ของ VR ในการเรียนกายวิภาค เข้าใจโครงสร้างร่างกายอย่างลึกซึ้ง โดย VR ช่วยให้มองเห็นอวัยวะต่างๆ ในมุมมอง 360 องศา ทำความเข้าใจตำแหน่ง และความสัมพันธ์ของอวัยวะได้ดีกว่าภาพ 2 มิติ สามารถลดการพึ่งพาร่างอาจารย์ใหญ่ ช่วยประหยัด และใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ได้อย่างได้ประโยชน์สุงสุด สอดคล้องกับจำนวนผู้บริจาคร่างกายที่ลดลง
นักศึกษาแพทย์สามารถลงมือปฏิบัติ และเรียนรู้ด้วยตนเอง ซ้ำกี่ครั้งก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำร่างอาจารย์ใหญ่เสียหาย
แต่ในช่วงแรก การใช้งานระบบ VR ประสบปัญหา เนื่องจากข้อจำกัดของสัญญาณ WiFi การรับ- ส่งข้อมูลปริมาณมากทำให้ภาพกระตุก ไม่คมชัด แต่ด้วยความร่วมมือจาก Wi-Fi Alliance และ กสทช. ที่อนุญาตให้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ใช้คลื่นความถี่ 1200 MHz และได้นำโซลูชั่นจาก Aruba Wi-Fi network เข้ามาแก้ปัญหา ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไข
โดยปัจจุบันสามารถใช้งานแว่น VR พร้อมกันได้ถึง 20 เครื่อง ให้ภาพที่ภาพคมชัด ไม่มีสะดุด นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทย ที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์
ที่มา
งานแถลงข่าว Aruba