กระแสการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลหรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ แอปพลิเคชั่นกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และทุกบริษัทกลายสภาพเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ Walmart ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ และผู้ผลิตอุปกรณ์เช่น John Deere ได้เปิดห้องปฏิบัติการนวัตกรรม (innovation labs)ซึ่งเน้นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ส่วนใหญ่ใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และหลังจากพัฒนาสำเร็จก็จะส่งความสามารถใหม่ ๆ เหล่านั้นกลับเข้าสู่ชุมชนโอเพ่นซอร์ส ซึ่งเป็นการผลักดันให้มีการใช้โอเพ่นซอร์สอย่างแพร่หลายในยุคดิจิทัล
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนตระหนักว่าการสร้างแอปพลิเคชั่นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป เราจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการทำงานของแอปพลิเคชั่นดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงจากรายงานสถานะของโอเพ่นซอร์สระดับองค์กรประจำปี 2564 (2021 State of Enterprise Open Source Report) ของเร้ดแฮท ระบุว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นแบบก้าวกระโดดเป็นหนึ่งในสามความสำคัญอันดับแรก ๆ ของการใช้โอเพ่นซอร์สระดับองค์กร ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบไอทีให้ทันสมัย และการพัฒนาแอปพลิเคชั่น การที่คลาวด์คอมพิวติ้งและบริการแบบ Always-on เข้ามามีบทบาทโดดเด่น แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่างหันมาใช้ไฮบริดคลาวด์ในการดำเนินงานมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่องค์กรใช้บริการจากระบบพับลิคคลาวด์หลายระบบร่วมกันในโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ และเวิร์กโหลดที่เก็บอยู่ภายในองค์กร ทั้งยังขยายการใช้งานไปยังจุดต้นทางที่รับข้อมูลหรือเอดจ์ (Edge) คือการสร้างระบบไฮบริดคลาวด์หนึ่งขึ้นมานั่นเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ทักษะ เครื่องมือ และกลยุทธ์ใหม่ ๆ
โดยสรุป เพียงแค่การมองว่าทุกบริษัทเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ไม่ใช่แนวทางที่เพียงพออีกต่อไป ปัจจุบันผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ (ซีไอโอ: CIO) ทุกคนจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์ (Cloud Operator) ด้วย
ซีไอโอทุกคน รวมถึงองค์กรต้นสังกัด ต้องเข้าใจว่าตนเองมีอำนาจควบคุมทิศทางการใช้ระบบคลาวด์ขององค์กร เมื่อรู้วิธีการสร้างระบบคลาวด์แล้ว ต่อไปจำเป็นต้องรู้วิธีการนำระบบคลาวด์ไปใช้ให้เหมาะกับขนาดและความจำเป็นที่ต้องการ
บริการคลาวด์และแอปพลิเคชั่นคือหัวใจสำคัญ
“ทางเลือก” คือส่วนประกอบสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับไอที ซีไอโอไม่ได้กำหนดแผนงานขึ้นมาอย่างลอย ๆ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ผู้บริหารฝ่ายไอทีต้องคาดการณ์ให้ได้ว่าการตัดสินใจเรื่องหนึ่ง ๆ ที่อาจดูเหมือนตัดสินใจได้ง่ายในเวลานี้ จะก่อให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อน บั่นทอนขีดความ สามารถด้านการแข่งขัน หรือจะละเมิดกฎระเบียบในอนาคตหรือไม่
การนำงานทั้งหมดไปรันอยู่บนบริการคลาวด์ต่าง ๆ อาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่การใช้คลาวด์ถือเป็นกลยุทธ์ขององค์กร และเป็นการเดิมพันอนาคตที่มีซีไอโอเพียงไม่กี่รายกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้ตัวเองสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างดีที่สุด ส่วนการดูแลรักษาดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ที่นอกจากจะครอบคลุมพื้นที่หลายแห่งแล้ว ตอนนี้ยังครอบคลุมระบบคลาวด์หลายระบบอีกด้วยนั้น จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรฝ่ายไอทีที่มีความเชี่ยวชาญอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากอีกด้วย ดังนั้นการใช้ไฮบริดที่ทำงานสอดคล้องกันจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะจะช่วยสร้างสมดุลที่ลงตัวทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและการประหยัดค่าใช้จ่าย
ด้วยเหตุนี้ ไอทีโซลูชั่นรุ่นต่อ ๆ ไปจะต้องใช้งานได้อย่างลื่นไหลและง่ายดายบนระบบไฮบริดคลาวด์ โดยครอบคลุมการทำงานไปกลับตั้งแต่บริการคลาวด์ไปจนถึงแอปพลิเคชั่นในดาต้าเซ็นเตอร์ เวิร์กโหลดเหล่านี้ควรจะสามารถรันได้ทุกที่ทุกเวลาและในทุกรูปแบบอย่างที่ซีไอโอต้องการไม่ว่าจะเป็นบริการแบบ Managed Service หรือระบบที่ติดตั้งในองค์กรก็ตาม
ก้าวไกลเกินกว่าดาต้าเซ็นเตอร์…และระบบคลาวด์
สำหรับซีไอโอที่มีหน้าที่ดูแลรักษาดาต้าเซ็นเตอร์รุ่นเก่า (ซึ่งเกือบทุกคนจะเป็นแบบนี้) นิยามของคำว่าดาต้าเซ็นเตอร์กำลังขยายขอบเขตกว้างขวางมากขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ว่าการขยายเวิร์กโหลดและสภาพแวดล้อมไปสู่ระบบพับลิคคลาวด์จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แต่การประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ระบบส่วนกลางไม่อาจตอบสนองความต้องการของแอปพลิเคชั่นรุ่นใหม่ที่ทันสมัยและผู้ใช้ในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ การเติบโตของเอดจ์คอมพิวติ้ง (Edge Computing) ซึ่งมาพร้อมกับระบบโทรคมนาคม 5G รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), Augmented Reality, ดาต้าเซ็นเตอร์เคลื่อนที่ (vehicles as datacenters) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ส่งผลให้ทรัพยากรประมวลผลถูกติดตั้งไว้ที่เอดจ์ (Edge) ที่อยู่ด้านนอกสุดของเครือข่ายองค์กร
สองปัจจัยหลักถ้าพูดถึงเรื่องเอดจ์คอมพิวติ้ง:
- เอดจ์คอมพิวติ้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีไฮบริดคลาวด์
- รากฐานของเอดจ์คอมพิวติ้งจะต้องเป็นแบบเปิด มิฉะนั้นจะประสบความล้มเหลว
สภาพแวดล้อมคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และอุปกรณ์เอดจ์ มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และมีความต้องการในเรื่องของการจัดการ การรักษาความปลอดภัย การเชื่อมต่อเครือข่าย และอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ผู้ให้บริการระบบคลาวด์จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานกลางซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ร่วมกัน เพื่อรองรับสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย รวมถึงการเชื่อมต่อระบบคลาวด์ต่าง ๆ สภาพแวดล้อมแบบเวอร์ชวล และฮาร์ดแวร์สแต็ก ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานร่วมที่ว่านี้จะต้องเป็น Linux และ Linux containers ในทุกกรณี
Linux จะให้บริการการเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ของไฮบริดคลาวด์แบบเปิด (Open Hybrid Cloud) รวมถึงเอดจ์ ให้กับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ ความสามารถในการเคลื่อนย้ายเวิร์กโหลดจากเอดจ์ไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ ไปยังระบบพับลิคคลาวด์โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแอปพลิเคชั่นอย่างสิ้นเชิงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้มาตรฐานแบบเปิดของ Linux kernel นอกจาก Linux จะรองรับไฮบริดคลาวด์แล้วยังเป็นรากฐานให้กับเอดจ์ที่อยู่วงนอกสุดของไอทีองค์กร
การพัฒนา เป็นมากกว่าการปรับเปลี่ยนเครื่องมือที่เป็นซอฟต์แวร์
อย่างไรก็ดี การทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์ ไม่ใช่เพียงแค่การนำมาใช้และบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่จำเป็นต้องใช้นอกเหนือจากเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อให้สามารถขยายการใช้งานระบบคลาวด์ให้ครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวาง และจะต้องเสริมสร้างทักษะให้กับบุคลากรภายในองค์กรเพื่อให้สามารถสร้าง จัดการ ดูแลรักษา และปกป้องสภาพแวดล้อมที่ขยายใหญ่ขึ้นนี้ได้
การติดตั้งแพลตฟอร์มพื้นฐานเพื่อรองรับกลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์แบบเปิดถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็อาจก่อให้เกิดความท้าทายตามมา เช่น เรื่องของการรักษาความปลอดภัย การปฏิบัติตามกฎระเบียบ
การเชื่อมต่อเครือข่าย และการบริหารจัดการ ระบบคลาวด์หนึ่ง ๆ ไม่ใช่ระบบที่ติดตั้งอย่างตายตัว
แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความต้องการทางธุรกิจและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นซีไอโอที่จะประสบความสำเร็จในฐานะเป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์
จำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าคุณต้องการการใช้งานที่เฉพาะเจาะจงอย่างไรบ้างทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ในท้ายที่สุด ผู้ให้บริการระบบคลาวด์จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรภายในองค์กรที่มีทักษะที่เหมาะสมในการรันระบบคลาวด์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะให้คำจำกัดความของสิ่งที่เลือกใช้ว่าอย่างไร แน่นอนว่า
ชุดทักษะด้านไอทีแบบเดิม ยังคงเป็นที่ต้องการ แต่สิ่งสำคัญเท่า ๆ กันก็คือ จะต้องพัฒนาทีมงานให้เรียนรู้และสร้างความชำนาญเกี่ยวกับแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างคู่มือเกี่ยวกับเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติภายในองค์กรที่จะช่วยเสริมสร้างความสำเร็จในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ที่จะสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนได้ไม่ควรคิดแต่จะมอบหมายงานทั้งหมดให้แก่บุคคลอื่น
แต่จะต้องเรียนรู้การทำงานบางอย่างด้วยตนเอง
ไฮบริดคลาวด์คือดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ที่ประกอบด้วยเซิร์ฟเวอร์ที่ติดตั้งอยู่ในองค์กร สภาพแวดล้อมแบบเวอร์ชวล อุปกรณ์เอดจ์ และบริการคลาวด์หลายร้อยบริการ (หรืออาจจะมากกว่านั้น) ส่วนซีไอโอทุกคนจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์หน้าใหม่ที่คอยดูแลระบบคลาวด์ขนาดใหญ่ที่ซับซ้อน โดยจำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์ม เครื่องมือ กระบวนการ และบุคลากรที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงาน
บนระบบคลาวด์ที่ว่านี้
บทความโดยพอล คอร์เมียร์, ประธานและซีอีโอ, เร้ดแฮท