เปลี่ยนซากรถเมล์เก่า ให้เป็น EV ฝีมือคนไทย พร้อมใช้งานจริง

ไม่ปล่อยให้เหลือซาก ขสมก. ชุบชีวิตรถเมล์ปลดระวาง หลังซดน้ำมันมานาน 20 ปี จับมาโมเครื่องยนต์ใหม่ ให้กลายเป็นรถเมล์ไฟฟ้า วิ่งรับส่งผู้โดยสารใช้งานต่อได้แบบไม่ต้องพัก

Techhub insight พาไปดูต้นแบบรถเมล์ไฟฟ้าที่ซุ่มพัฒนาโดยคนไทยมากว่า 4 ปี กับโจทย์สุดหิน ทำยังไงถึงจะคืนชีวิตรถเมล์เก่า ให้ใช้งานต่อได้แบบปลอดภัย เพราะการขับขี่รถ EV ด้วยความเร็วสูงต่อเนื่อง อาจทำให้แบตเตอรี่เกิดความร้อน และแรงดันที่ทำให้ไฟลุกไหม้ได้

EV BUS รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร ถูกออกแบบ และพัฒนาใหม่ โดยใช้ชิ้นส่วนอลูมิเนียมเกรดคุณภาพ ที่แข็งแรงและทนต่อการกัดกร่อน ช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น ที่สำคัญคือมีน้ำหนักเบา และเพิ่มคุณสมบัติป้องกันการลามไฟในห้องโดยสาร เพื่อป้องกันความเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้

 

สรวิศ วณิชอนุกูล ผอ.โปรแกรมเทคโนโลยี และการจัดการพลังงานยานยนต์ไฟฟ้า สวทช. บอกว่า ความยากของการเปลี่ยนน้ำมันเป็นไฟฟ้าคือทำยังไงให้ใช้ได้ดีและปลอดภัย ตัวแบตเตอร์รี่ที่เป็นวัตถุไวไฟ รถที่ขับด้วยความเร็วสูง เป็นเวลานาน อาจทำให้ความร้อนสูงขึ้นและมีโอกาสเกิดไฟลุกไหม้ ต้องออกแบบและทดสอบในสถานการณ์จริง ระบบระบายความร้อนแบตเตอร์รี่ เป็นตัวจัดการอุณหภูมิ แรงดันสูงไฟช็อต และการสปาร์กของระบบไฟได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

EV Bus คันนี้ทดสอบแล้วว่า ประหยัดพลังงาน ชาร์ต 1 รอบ วิ่งได้ 80 – 95 กิโลเมตร อัตราการใช้ไฟอยู่ที่ 1.43 กิโลวัตต์ kWh ต่อกิโลเมตร หลังทดสอบวิ่งจริงมากกว่า 3 เดือน ตอนนี้ต้นแบบ EV BUS พร้อมลงถนนใช้งานจริงถนน ได้อย่างมั่นใจ

“มอเตอร์ไฟฟ้ามันให้ประสิทธิภาพ ดีกว่าเครื่องยนต์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอัตราเร่งหรือการทำความเร็วในช่วงเวลาต่างๆ มันสามารถทำได้ดีกว่าเครื่องยนต์ ต้องการใช้พลังงานในการขับเคลื่อนน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพจะต่างกันอยู่ 60-70% เลย” เขากล่าว

รถเมล์ EV ทดสอบแล้วว่าปลอดภัย แถมใช้วัสดุที่ผลิตเองในไทย ช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าคันละ 7 ล้านบาท หรือถูกกว่านำเข้ารถบัสคันใหม่ถึง 30 % 

ต้นแบบ EV BUS ทั้ง 4 คันจะถูกนำไปทดสอบใช้งานจริงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ ก่อนวางผลิตเพิ่ม เพื่อใช้งานจริงในอนาคต ที่มีความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นในยุคน้ำมันแพง

อ่านเพิ่มเติม