โครงการ eisa (Education Institute Support Activity) ภายใต้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในโครงการที่สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม และกิจกรรมในสถาบันการศึกษา ร่วมมือกับชุมนุม (SIFE) Students in Free Enterprise คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาร้าแปรรูป ในด้านการพัฒนาโลโก้– แพคเกจสินค้า และวางแผนการตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มยอดการขายให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน โดยทางคณะอาจารย์และนิสิตได้ดำเนินการวางแผนการทำงานร่วมกันประกอบกับกรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐนครนายก ได้มอบโจทย์แก่นิสิตในชั้นเรียนเพื่อเก็บข้อมูลและแก้ปัญหาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน
ชุมนุม SIFE ‘Students in Free Enterprise’ เป็นองค์กรอิสระก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1975 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก SIFE สนับสนุนมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกให้จัดตั้งทีมนักศึกษาขึ้นเพื่อพัฒนาธุรกิจในชุมชน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลการทำโครงการอย่างใกล้ชิด SIFE จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการ 5 ประการคือ
- เศรษฐศาสตร์การตลาด (Market Economics)
- ทักษะแห่งความสำเร็จ (Success Skills)
- ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
- ความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy)
- จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics)
ล่าสุดวันที่ 9 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาโครงการ eisa และชุมนุม (SIFE) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อนำเสนอการออกแบบผ่านทางนวัตกรรมด้าน Logo & Packaging ของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงการวางแผนการตลาด Online marketing เน้นการ Promote ช่องทางขายออนไลน์ผ่านทาง Line official ร่วมกับชุมชน ณ กลุ่มวิสาหกิจปลาร้าแปรรูป ตำบลทองหลาง จังหวัดนครนายก
นางรำพึง ใจบุญ ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรและการทำมาหากินในด้านอาหารและโภชนาการ ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรมและใช้บ้านของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมอาชีพ เช่น ทำปลาแดดเดียว ปลาร้า ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลาดุก ได้เปิดใจถึงการนำองค์ความรู้ การปรับปรุงสินค้าเดิมให้สอดคล้องกับยุคสมัยของน้องๆนิสิตจุฬาฯว่า
“ รู้สึกดีใจมากๆปลื้มใจที่น้องๆมาช่วยแบ่งเบาช่วยแก้ปัญหาปรับเปลี่ยนโลโก้สินค้า และช่วยขยายการตลาดทดลองการขายจริงมีการปรับปรุงวัสดุให้น่าจับต้องมากขึ้น ปกติแล้วทางกลุ่มปลาร้าแปรรูปของเราจะเน้นพัฒนาคุณภาพปลาร้าและผลิตภัณฑ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น พอเราได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากโครงการ สมาชิกในกลุ่มต่างก็ให้ข้อมูลเชิงลึกและมีการสนทนาผ่านทางระบบ Zoom ก็รู้สึกตื่นเต้นแปลกใหม่เพราะพวกเราไม่เคย ทำให้เกิดมุมมองรวมถึงสถานการณ์การผลิตปลาร้าที่มีการปรับปรุงแต่งสี กลิ่น รส เพิ่มจากภูมิปัญญาเดิม พ่อบ้านแม่บ้านหลายครัวเรือนที่เข้าร่วมทดสอบต่างยอมรับการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมถึงได้ความรู้และข้อมูลต่างๆทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ เรารู้สึกจริงๆว่างานจะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ eisa บริษัท ไทยเบฟและน้องๆ จากจุฬาโครงการ SIFE ที่ทำให้สินค้าของพวกเรามีการต่อยอดกว้างไกลออกไป มีคุณภาพมากขึ้น จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ” คุณรำพึงกล่าวด้วยรอยยิ้ม
บุคคลที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยกับ นางอรกัญญา นิลบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครนายก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ผู้ซึ่งดำเนินการประสานงานโครงการระดับท้องถิ่นกับโครงการ eisa เห็นสมควรคัดเลือกนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาการตลาด ออกแบบโลโก้ พร้อมเข้าไปมอบโจทย์ให้กับนิสิตจุฬาลงกรณ์ในชั้นเรียน โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โครงการ eisa และ SIFE จุฬาฯได้ลงพื้นที่ทำการตลาดสินค้าปลาร้าแปรรูปและน้ำพริกในรูปแบบใหม่ ณ ตลาดขุนด่าน@นครนายก ซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว เขื่อนขุนด่านปราการชล ได้สังเกตการณ์ในการทำงานของนิสิตว่าจะตอบโจทย์และสามารถนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ โดยสรุปผลออกมาดังนี้
“ รู้สึกดีนะคะ ที่เห็นน้องๆมาช่วยชุมชนและมีการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากการหาข้อมูลชุมชน และช่วยกันพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ปลาร้าแปรรูปมีมาตราฐานที่ดีขึ้น ชุมชนมีโลโก้เป็นของตัวเอง มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามน่าจับต้อง ส่งผลที่ดีต่อด้านการตลาดให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาด้านการตลาดออนไลน์ทำให้ชุมชนขายสินค้าได้หลายช่องทาง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าของชุมชนกว้างขึ้นค่ะ อยากจะบอกว่าโครงการนี้มีประโยชน์มากกับชุมชน เป็นโครงการที่ทำให้น้องๆได้เข้ามาใกล้ชิดกับชาวบ้านได้เข้ามาพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ”
อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจของ นายธีร์ พงศ์พลไพรวัน หลักสูตร BBA-Accounting คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในฐานะผู้นำทีมนิสิตในการบริหารการทำงานครั้งนี้ว่า “สวัสดีครับ ชื่อธีร์นะครับ เป็น Project Operator ของปลาร้าแปรรูปนะครับ วันนี้ได้นำผลงานมาเสนอแม่ๆในชุมชน รู้สึกดีมากครับทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก โดยเราจะเน้นเรื่องการตลาดเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลโก้ เรื่องสโลแกนรวมถึงแพคเกจจิ้ง เราจะมาปรับเปลี่ยนให้กับชุมชนครับ ฟีดแบคจากชุมชนคือเห็นด้วยกับเราพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ทั้งนี้เรามีโลโก้ 18 แบบให้ชุมชนได้เลือก การปรับเปลี่ยนต่างๆที่พอจะปรับจูนกันได้เราก็จะพูดคุยกันว่าได้เท่าที่นะ อยากให้เป็นแบบนี้นะ อย่างเช่น แพคเกจจิ้ง เราเห็นว่าควรจะต้องปรับเปลี่ยนให้ดูน่าสนใจมีการ Work Shop กับชุมชน มีการลงพื้นที่ทดลองขายจริง สิ่งที่เราคาดไม่ถึงคือเราวางขายสินค้ารูปแบบใหม่ในที่สาธารณะจำนวน 2 จุด คือตลาดเกียรติบำรุง และตลาดเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งเกินคาดมากครับเราได้ผลตอบรับที่ดี นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนสนใจมาอุดหนุนซื้อปราร้าแปรรูปและน้ำพริก ขายหมดไวมากทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจกับการทุ่มเทครั้งนี้ครับ”
ด้านอาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุม SIFE อาจารย์ ดร.สาวิตรี บุญพัชรนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ?มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดูแลการปฎิบัติการของนิสิตได้แสดงความคิดเห็นว่า “ เป็นโครงการปีแรกของ SIFE ที่มีการลงพื้นที่ในจังหวัดนครนายก การที่เรามาทำโครงการนี้ เราเห็นศักยภาพของชุมชนบ้านทองหลางในมุมที่ว่ามีวัตถุดิบอยู่แล้วซึ่งก็คือปลาร้าที่เป็นข้าวคั่วที่แตกต่างจากปลาร้าทั่วไปที่เป็นน้ำๆในมุมมองของคนกรุงเทพ และชุมชนก็มีสินค้าอื่นๆ เช่นน้ำพริก เราก็เห็นว่าชุมนุม SIFE มีนิสิตที่มีความรู้ด้านธุรกิจทางด้านการตลาด Marketing ก็น่าจะลงมาช่วยเหลือชุมชนได้เพราะว่าสินค้าของชุมชนเป็นสินค้าที่ดีมากๆ แต่ยังอยู่ในวงแคบในจังหวัดนครนายก เราอยากให้สินค้าของชุมชนขยายวงกว้างออกไป สิ่งที่เราถนัดเราจะส่งเสริมด้านการตลาดออนไลน์ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับด้าน Branding ต่างๆที่เราจะทำค่ะแล้วปีนี้ชุมนุม SIFE ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี – จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัยเราได้รับความร่วมมือที่ดีมากๆจากคณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์จุฬา มาร่วมออกแบบโลโก้และการทำ Packagingเพื่อผสมผสานความรู้ระหว่างคณะเพื่อส่งมอบสิ่งดีๆให้ชุมชน สำหรับ Feedback ในการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่2 หลังจากที่เราได้เคยลงมาสำรวจไปแล้วหนึ่งครั้งเราจะเห็นว่าจริงๆชุมชนเปิดกว้างมากๆเลย น่ารักเป็นกันเองรู้ว่าตัวชุมชนมีดีอยู่แล้วแต่ก็อยากจะพัฒนาสินค้าของตัวเองให้ขายได้มากยิ่งขึ้น ให้ข้อมูลเชิงลึกพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี วันนี้นอกจากหน้าบ้านที่เรานำแบบโลโก้และ Packaging มาให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นพร้อมเลือกแบบตามความชอบของชุมชน รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ ในวันนี้เราก็จะมาทำหลังบ้านด้วยเรามองว่าธุรกิจจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตเราคิดว่าหน้าบ้านการตลาดออนไลน์ไม่เพียงพอ นิสิตก็จะมาแนะนำเรื่องการคิดต้นทุนซึ่งต้องดูว่าวันนี้สิ่งที่ชุมชนขายตั้งราคาไว้เหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้าเราปรับ Packaging เรามีสินค้าตัวใหม่ๆออกไปเราจะต้องปรับเรื่องต้นทุนไหมเพื่อที่จะให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อๆไปค่ะ “
สุดท้ายเรามาฟังความรู้สึกของนิสิตหญิงในฐานะผู้มีความรักษ์โลก นางสาววรกมล ธารสุวรรณวงศ์ ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีต่อวิสาหกิจชุมชนบ้านทองหลางในการบริหารจัดการระบบ Food Waste ว่า “ชื่นชมกับชุมชนบ้านทองหลางที่มีการจัดการระบบ Food Waste หรือขยะจากกระบวนการผลิตปลาร้าแปรรูปที่ได้นำไปเป็นอาหารให้กับปลาสวายที่ชุมชนเลี้ยงไว้ ได้เห็นการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอย่างเคร่งครัดรวมถึงแนวทางการอนุรักษ์โดยจัดการเชิงระบบนิเวศ อาทิ การจัดการพื้นที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรชีวภาพอย่างบูรณาการ มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและแบ่งปัน ซึ่งเราจะเห็นว่าปัจจุบันปัญหาของระบบนิเวศมักมาจากปัญหามลพิษขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล หากเราไม่รีบป้องกันแก้ไขอาจส่งผลกระทบต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้ การป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันค่ะ” วรกมล กล่าว
การดำเนินการพัฒนาปลาร้าแปรรูป ตำบลทองหลาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่ทางโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และชุมนุม SIFE จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าไปพัฒนาโลโก้ Packaging และแผนการตลาดให้กับชุมชนปลาร้าแปรรูปแห่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและมีจุดเด่นคือการผลิตปลาร้าจากปลาดุกและปลานิล นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์รองเป็นน้ำพริกซึ่งเป็นการนำเอาวัตถุดิบจากปลามาดัดแปลงเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม สำหรับการพัฒนาของโครงการจะครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องการขยายตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า โดยมีเกณฑ์การประเมินสถานการณ์ที่ต้องการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้อาศัยและประกอบอาชีพของตนในชุมชนอย่างยั่งยืน