EGA เผยผลสำเร็จงาน “Digital Government Summit 2017” โชว์ความพร้อมปีแห่งข้อมูล 2018 สู่การสร้างบริการอัจฉริยะภาครัฐ ในบทบาท DGA
จากผลสำเร็จของงาน “Digital Government Summit 2017” โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ณ ลาน Eden และ Central Court ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดงาน โดยงานได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และประชาชน เข้าร่วมสัมผัสประสบการณ์ดิจิทัล ตลอดการจัดงาน 3 วัน กว่า 10,000 คน ทั้งร่วมชมนิทรรศการ รับฟังการสัมมนา และใช้บริการอัจฉริยะต่างๆ ภายในงาน อาทิ บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ตคาร์ด จาก สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, บริการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ จากกรมการกงสุล, ตรวจเครดิตบูโรฟรี จากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, Citizen Feedback สำนักงาน ก.พ.ร., บริการต่างๆ ภายใต้โครงการ GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ และแอปพลิเคชันภาครัฐมากมาย เช่น GNews, ภาษีไปไหน, Rama Appointment, Thai Weather, Doctor Asks เป็นต้น
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ และก้าวต่อไปในปี 2018 ภายในงานว่า ความก้าวหน้าแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา สามารถดำเนินการเสร็จสิ้น 12 โครงการ จาก 34 โครงการ ครอบคลุมด้านการบูรณาการและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลดิจิทัล การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจ การยกระดับความมั่นคงและเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งการก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล สามารถทำได้โดยการ “เปิดเผย เชื่อมโยง เปลี่ยนผ่าน” เช่น การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านบริการภาครัฐให้อัจฉริยะมากขึ้น
ยกตัวอย่าง การก้าวสู่ Cashless Society หรือสังคมที่ไม่ใช้เงินสดด้วยบริการภาครัฐ เช่น บริการพร้อมเพย์ บัตรแมงมุม ฯลฯ การลดการใช้กระดาษ (Less Paper) ลดการขอสำเนาในการติดต่อราชการ ใช้การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนแบบสมาร์ตคาร์ด การบริการภาครัฐแบบ One Stop Service เช่น การติดต่อราชการได้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ระบบกรอกข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่แล้วให้อัตโนมัติ ส่งเอกสารประกอบเพียงชุดเดียวแล้วหน่วยงานแชร์กัน ไม่ต้องขอซ้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ในปีแห่งข้อมูล 2018 สู่การสร้างบริการอัจฉริยะภาครัฐ จะมีการดำเนินการบริหารจัดการทั้งด้าน Big Data และ Open Data โดยจะประกาศ National Data Set ประมาณ 300-500 ชุดข้อมูล จะมีการเปลี่ยนผ่านด้านคน (Digital Literacy) ด้วยหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ หรือ TDGA จะมีกระบวนการ (Digital Transformation Program) ซึ่งเป็นขั้นตอนการพัฒนาบริการภาครัฐในแบบ Agile และการใช้ Data Analytics ช่วยในการตัดสินใจ นอกจากนี้จะมีการร่างกรอบมาตรฐานการพัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐขึ้นมา ภายใต้บทบาทใหม่ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ตามมติค.ร.ม. เมื่อวันที่10 ตุลาคม 2560 เป็นสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นในการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัล และเป็นกำลังสำคัญในการนำพาประเทศสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม