แผ่นดิสก์แบบใหม่ เทียบเท่าบลูเรย์ จุข้อมูลได้ 1.6 เพตาบิต

แผ่นดิสก์แบบใหม่

แม้ปัจจุบัน เทคโนโลยี Flash Storage จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่แผ่นดิสก์ได้มีการพัฒนาอย่างเงียบ ๆ โดยมุ่งเน้นตอบโจทย์ศูนย์ข้อมูล ที่ต้องการจะเก็บข้อมูลมหาศาล

ตอนนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ ได้พัฒนาแผ่นดิสก์ออปติคอลที่จุข้อมูลได้มากถึง 1.6 เพตาบิต และแม้ว่าเทคโนโลยีนี้มุ่งเน้นสำหรับการใช้งานในองค์กรเป็นหลัก แต่มันก็มีศักยภาพที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปได้ในอนาคต

นักวิจัยสามารถเพิ่มความจุของแผ่นดิสก์ออปติคอลได้อย่างมาก ด้วยการใช้โครงสร้างการบันทึกแบบ 3 มิติ เทคโนโลยีนี้ใช้ฟิล์มโฟโตเรซิสต์โปร่งใสพิเศษ เติมด้วยสีย้อมเรืองแสง และกระตุ้นด้วยเลเซอร์

จากวิธีการ ยอมรับว่าก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่หากดูจากข้อมูล วิธีนี้ช่วยให้บรรจุเลเยอร์ในแผ่นดิสก์ได้หลายร้อยเลเยอร์ แต่ละเลเยอร์เว้นระยะห่างกันเพียงหนึ่งไมโครเมตร และแผ่นดิสก์ก็ความหนาเท่ากับดีวีดีหรือแผ่นบลูเรย์

แผ่นบลูเรย์รุ่นล่าสุดรองรับเลเยอร์ได้สูงสุด 4 เลเยอร์ และโดยทั่วไปจะมีความจุประมาณ 100 กิกะไบต์ เมื่อเทียบกันแล้ว นักวิจัยอ้างว่ารูปแบบใหม่ของพวกเขาสามารถบันทึกเลเยอร์ได้ 100 เลเยอร์ทั้งสองด้านของแผ่นดิสก์ ซึ่งจะให้ความจุรวม 1.6 เพตาบิต หรือประมาณ 200 เทราไบต์

หากแผ่นดิสก์นี้ ถูกนำไปใช้ได้จริง มันจะช่วยลดขนาด ความร้อน และอัตราการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลงได้อย่างมาก และยังช่วยลดความซับซ้อนในการย้ายข้อมูลและลดความจำเป็นในการย้ายฐานข้อมูลอีกด้วย นอกจากนี้ นักวิจัยยังอ้างว่า แผ่นดิสก์ดังกล่าว สามารถใช้งานได้นาน 50 ถึง 100 ปีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ แม้จะจุได้เยอะ แต่ปัจจุบัน ความเร็วในการ Read/Write นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในข้อมูลนั้นไม่ได้ให้รายละเอียดตรง ก็รอดูว่า จุเยอะก็จริง แล้วความเร็วเป็นยังไง เพราะสองสิ่งนี้ มันมักตรงข้ามกันเสมอ…

และหากถามว่า ผู้บริโภคทั่วไปจะเข้าถึงได้ไหม ได้! แต่ต้องมีการพัฒนา Drive สำหรับอ่านในราคาที่ถูกด้วยเช่นกัน แม้แผ่นดิสก์แบบใหม่นี้จะมีขนาดเท่ากับแผ่น DVD ทั่วไป แต่ Drive ที่ใช้ในการอ่านต้องเป็น Drive ที่รองรับการใช้งานด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ มันน่าจะแพงมาก ๆ แต่หากทำได้ มันอาจเก็บข้อมูลเกมบน PlayStation 5 ได้ประมาณ 2,000 เกมเลยทีเดียว

ที่มา
techspot