นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตันพัฒนา “ระบบประสาทเทียม” ให้กับโดรน ทำให้สามารถตรวจสอบสุขภาพโครงสร้างของตัวเองได้ตลอดเวลา ลดความจำเป็นในการลงจอดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยบ่อยๆ โดยใช้ใยแก้วนำแสงตรวจจับแรงเค้นและความเสียหาย คล้ายกับเส้นประสาทในร่างกายมนุษย์ และใช้สัญญาณแสงแทนไฟฟ้า ลดปัญหาการรบกวนที่พบบ่อยในระบบอิเล็กทรอนิกส์
ระบบนี้ใช้เทคนิค “Optical speckle” ฉายภาพที่เปลี่ยนไปตามแรงเค้นและความเสียหาย อัลกอริทึม AI จะวิเคราะห์ภาพเหล่านี้ ประเมินความเสียหาย และแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่เมื่อพบปัญหา การทดสอบติดตั้งระบบในโดรนต้นแบบของนักศึกษา ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงช่วยยืดระยะเวลาการบิน ลดการตรวจสอบด้วยมือ และส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้
นักวิจัยเชื่อว่าระบบตรวจสอบตัวเองนี้มีศักยภาพมหาศาลในหลายอุตสาหกรรม ตั้งเป้าที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2568 โดรนที่ประเมินความสมบูรณ์ของโครงสร้างตัวเองได้ตลอดเวลา จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการขนส่งสินค้า การส่งของฉุกเฉิน และงานที่ต้องการบินนานๆ โดยไม่ต้องลงจอดบ่อย
แม้การทดสอบครั้งแรกจะใช้โดรนขนาดเล็ก แต่เทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับโดรนขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ที่ต้องรับภาระการทำงานหนักกว่า โดรนขนาดเล็กกำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะในด้านการขนส่ง
ที่มา
techspot