กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP), บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด ร่วมประกาศผลการแข่งขัน “แฮกกาธอน (Hackathon) : เปิดวาร์ปเส้นทางการค้าด้วยดาต้าทั่วหล้าฟ้าดิน” เผย 3 ทีมชนะการประกวด ออกแบบโมเดลทางเทคนิคพัฒนาระบบคลังข้อมูลแบบมาตรฐาน ด้วยปัญญาประดิษฐ์ คว้าเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 160,000 บาท เตรียมนำโมเดลที่เสนอไปพัฒนาระบบข้อมูล Big Data เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทยต่อไป
ภายในงานประกาศผลการแข่งขันเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจัดขึ้นที่ ห้องแถลงข่าว อาคารริมน้ำ กระทรงพาณิชย์ ได้รับเกียรติจาก นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ และประกาศผลการแข่งขัน ร่วมด้วย นายปวิช ใจชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มในด้านการสนับสนุนทางอุปกรณ์และเทคนิค โดยมี อาจารย์เชียรช่วง กัลยาณมิตร ที่ปรึกษาโครงการ, นายวสุพล ธารกกาญจน์ Cloud Marketing Business Group Lead บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด, นายธนิศร์ พิริยะโภคานนท์ ผู้จัดการโครงการ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด, นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศและการบริการการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน โดยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมงานจำนวนมาก
นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการจัดการแข่งขัน “แฮกกาธอน (Hackathon) : เปิดวาร์ปเส้นทางการค้าด้วยดาต้าทั่วหล้าฟ้าดิน” ว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด จัดการแข่งขันเพื่อเปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเสนอแนวทางในการออกแบบโมเดลทางเทคนิคเพื่อการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงพัฒนาระบบคลังข้อมูลแบบมาตรฐานด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการด้านการค้าระหว่างประเทศของกรมฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภายหลังจากเปิดรับสมัคร มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันรวมทั้งสิ้น 15 ทีม ทีมละ 3-5 คน ซึ่งแต่ละทีมล้วนมีความสามารถ โดยใช้เวลาแข่งขันตามโจทย์ที่กำหนดเป็นเวลา 2 วัน จนกระทั่งได้สุดยอดทีมที่เป็นเลิศ สามารถออกแบบโมเดลการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อค้นหาโอกาสในการค้าระหว่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้จำนวน 3 ทีม ได้แก่
รางวัลชนะเลิศ : ทีม “Rial and Friends” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ทีม “Salted egg” จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง : ทีม “คิดไม่ออกบอกสาม” จากธนาคารไทยพาณิชย์ โดยจะได้รับเงินรางวัลรวม 160,000 บาท ดังนี้ ทีมชนะเลิศ 80,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับที่สอง 30,000 บาท
สำหรับทีม “Rial and Friends” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายธนกร ประยูรกิตติกุล, นายชมปกรณ์ จักรแสงชัยโชติ, นางสาวศศิภัทร บุญมี, นางสาวพชรวัลย์ เยี่ยมผลพัฒน์ และนายณัฐดนัย ลีลาอุดมลิปิ นำเสนอหัวข้อเรื่อง การนำข้อมูลการค้าระหว่างประเทศมาวิเคราะห์ตามพันธกิจของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาโอกาสและเพิ่มศักยภาพสินค้าในการส่งออก โดยมีรูปแบบการทำงาน คือ การขยายช่องทางการตลาดแก่สินค้าและบริการของไทย พร้อมแสวงหาโอกาสจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศและดูสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศนั้น ดูความต้องการของสินค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุกประเทศหรือเฉพาะประเทศไทย เพื่อแสวงหาโอกาสและเพิ่มศักยภาพสินค้าในการส่งออก
ส่วนทีม “Salted egg” จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย นายจิรายุ โพธิราช, นายพงศกร ศรีสกาวกุล, นายชินโชติ เถรปัญญาภรณ์, นางสาวภัทรวดี รัตนะศิวะกูล และนางสาวธนาพร ศรีคล้าย เสนอหัวข้อเรื่อง การนำเสนอข้อมูลการค้าระหว่างประเทศการขยายตัวของการส่งออก สินค้าศักยภาพและวัฏจักรของสินค้า โดยจะดูอัตราการขยายตัวการส่งออกของไทย และนำมาเปรียบเทียบกับสินค้าศักยภาพโดยจัดกลุ่มตาม HS Code 4 digits และดูวัฏจักรการหดตัวและขยายตัวของแต่ละประเทศ นำมาเปรียบเทียบกับแนวโน้มของตลาดโลก พร้อมแนะนำตลาดและสินค้าที่ควรจะการส่งออก และสินค้าที่นำเข้าจากทั่วโลกเยอะแต่นำเข้าจากไทยน้อยจะมีวิธีการเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้า
ขณะที่ทีม “คิดไม่ออกบอกสาม” จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย นายภัทร ศรีพวาทกุล, นางสาววิสุตา นาเงิน, นายภัคพงศ์ ศรีเจริญ, นางสาวชยิสรา ชนินทรพิพัฒ และนายฐกร ฉัตรชัยสถาพร เสนอหัวข้อเรื่อง นำข้อมูลการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ โดยการใช้ GDP และ Community Trade และใช้ Predictive Model เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์การส่งออก โดยจะนำข้อมูลสินค้าส่งออกของประเทศไทยแต่ละปีที่มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสูง พร้อมคัดเลือกสินค้าศักยภาพ และหาประเทศคู่ค้าของไทย เพื่อการวางกลยุทธ์ในการส่งออก และเปรียบเทียบกับ Supply ของประเทศแล้วสรุปออกมาเป็นคะแนนเพื่อใช้ในการตัดสินใจ
นางวรรณภรณ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ทุกส่วนราชการได้มีความตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนา ระบบสารสนเทศในส่วนงานบริการต่างๆ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน แต่ยังขาดการออกแบบโมเดลหรือแนวคิด ในการเชื่อมโยงใช้ประโยชน์ข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศเชิงยุทธศาสตร์อัจฉริยะ (Business AI) เพื่อช่วยสนับสนุนกระบวนการวิเคราะห์และตัดสินใจดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการจัดการแข่งขันแฮกกาธอนในครั้งนี้
“กรมฯ จะนำไอเดียและแนวคิดที่ได้จากผู้ชนะการแข่งขัน ไปใช้ในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในแต่ละสาขา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการให้บริการข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” นางวรรณภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายปวิช ใจชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษาบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด เผยว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมให้ความสนับสนุนการแข่งขัน ครั้งนี้ “เราเห็นว่าโครงการปัญญาประดิษฐ์ เป็นโครงการต้นแบบ ไม่เพียงต้องการองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคด้วย ไมโครซอฟท์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค จึงพร้อมให้ความสนับสนุนทีมผู้เชี่ยวชาญ และผลิตภัณฑ์ Microsoft Azure ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงสนับสนุนสถานที่จัดการแข่งขัน ขอขอบคุณกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้ไมโครซอฟท์ รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการจัดแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการบูรณาการต่อยอดการใช้ข้อมูลภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม”
ขณะที่ นายธนิศร์ พิริยะโภคานนท์ ผู้จัดการโครงการ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด กล่าวว่า “แบ็คยาร์ด มีความยินดีที่ได้รับผิดชอบในการพัฒนาระบบ และได้นำเสนอไอเดียในการจัดงานแฮกกาธอนในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากโครงการนี้ เป็นโครงการต้นแบบ ที่ยังต้องการไอเดียและแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องอีก จำนวนมาก การจัดการแข่งขันแฮกกาธอนจึงช่วยตอบโจทย์ในส่วนนี้ และยังได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ DITP ในฐานะหน่วยงานรัฐ ที่ทำการริเริ่มดำเนินตามยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสร้างเครือข่ายนักพัฒนาระบบ, นั กเศรษฐศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อการต่อยอดในการพัฒนาโครงการ หรือสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักพัฒนาและ DITP ในโอกาสต่อไป”
ความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดการแข่งขัน “แฮกกาธอน (Hackathon) : เปิดวาร์ปเส้นทางการค้าด้วยดาต้าทั่วหล้าฟ้าดิน” ครั้งนี้ จึงเป็นการตอกย้ำอย่างเป็นรูปธรรมว่า DITP ได้มุ่งดำเนินตามยุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างแท้จริง