ดิจิทัล เวนเจอร์ส เปิดมุมมองสู่ Blockchain

ดิจิทัล เวนเจอร์ส เปิดมุมมองสู่ Blockchain เทคโนโลยีแห่งวงการ FinTech ในอนาคต มุ่งเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจให้คนไทยก้าวทันนวัตกรรมของโลก

digital-01

ดิจิทัล เวนเจอร์ส ผู้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคาร เผยมุมมองของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ฟินเทคปฏิวัติโลกการเงินและธุรกรรมออนไลน์ ในฐานะสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่บุกเบิกการลงทุน ศึกษา เพื่อทดลองฟินเทคบนเครือข่าย Blockchain มุ่งพัฒนาและสร้างเสถียรภาพให้กับการโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ หลังประกาศแผนการลงทุนใน Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลกกำลังตื่นตัวในเทคโนโลยี Blockchain ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับการทำธุรกรรมทางการเงินในหลายรูปแบบที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ ทั้งในแง่ความรวดเร็ว ความปลอดภัย และการลดค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับองค์กรภาครัฐของไทยที่มีส่วนในการกำกับทิศทางในภาคการเงินการธนาคาร ก็กำลังมุ่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกดังกล่าว อีกทั้งเพื่อผลักดันให้ประเทศพร้อมเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล”

เมื่อเร็วๆ นี้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส จึงได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Ripple ผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain โดยมีวัตถุประสงค์ในด้านการลงทุน การศึกษา เพื่อทดลองระบบการโอนเงินข้ามประเทศผ่าน Blockchain ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการนำเทคโนโลยีนี้มาเชื่อมโยงกับโครงข่ายการทำ Cross Border Payment หรือระบบการโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งยังสะท้อนกลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ในการยกระดับการบริการลูกค้า โอกาสนี้เราจึงมีความยินดีที่จะได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain ให้คนไทยมีความพร้อมและความเข้าใจในนวัตกรรมทางการเงินที่น่าจับตามองนี้”

นายสุวิชชา สุดใจ  Managing Director, Digital Products บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด อธิบายเกี่ยวกับ Blockchain หรือ DLT (Distributed Ledger Technology) ว่า “หากพูดถึง Blockchain หลายคนจะนึกถึงบริการสกุลเงินดิจิตอล หรือที่เรียกว่า Bitcoin ซึ่งจริงๆ แล้ว Bitcoin เป็นเพียงหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการดำเนินการเท่านั้น โดย Blockchain คือระบบการทำงานบนฐานข้อมูลออนไลน์ประเภทหนึ่งที่ช่วยให้การทำธุรกรรมเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งยังโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ จากเดิมที่ปัจจุบัน ข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บไว้ที่ใดที่หนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ในขณะที่ Blockchain ใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่อนุญาตให้สมาชิกในระบบทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้  ทั้งนี้ การอัพเดทข้อมูลจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการตกลงและเห็นชอบร่วมกันระหว่างบุคคลส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบเดียวกันเท่านั้น โดยเมื่อข้อมูลถูกบันทึกลงในระบบแล้ว ข้อมูลนั้นจะไม่สามารถถูกลบทิ้งได้”

Blockchain มีส่วนคล้ายคลึงกับอินเทอร์เน็ตในแง่ของการเก็บข้อมูลเพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นระบบที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดย Blockchain สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ Private Blockchain และ Public Blockchain ซึ่งหากเปรียบเทียบว่า Public Blockchain คืออินเทอร์เน็ต ในแง่ของการอนุญาตให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในระบบได้อย่างเท่าเทียมกัน Private Blockchain ก็จะเปรียบเสมือนอินทราเน็ต (Intranet) ที่จำกัดสิทธิ์ให้เฉพาะบุคคลหรือบางหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากทางระบบในการเข้าถึงข้อมูลนี้ได้

“ในปัจจุบัน Blockchain ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ในการโอนเงินข้ามประเทศ เพราะ Blockchain จะช่วยลดทอนขั้นตอนในการโอนเงิน ช่วยเอื้อประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจในด้านการลดต้นทุน ในขณะที่ลูกค้าเองก็จะได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรมต่างๆ ที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น จากเดิมการโอนเงินข้ามประเทศที่ใช้เวลาหลายวัน ก็เหลือเพียงไม่กี่นาที นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม ทั้งยังปลอดภัยขึ้น จึงนับได้ว่า Blockchain จะก้าวขึ้นมาเป็นเทคโนโลยีอันทรงอิทธิผลแห่งอนาคตในอีกไม่ช้า ซึ่งในขณะนี้มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกกว่า 50 แห่งที่ได้เข้าร่วมในระบบ Blockchain เพื่อพัฒนาการโอนเงินข้ามประเทศนี้แล้ว อาทิ Standard Chartered, Royal Bank of Canada (RBC), Westpac, National Australia Bank (NAB), Mizuho Financial Group (MHFG), BMO Financial Group และ Shanghai Huarui Bank อย่างไรก็ดี Blockchain อาจต้องอาศัยเวลาในการสร้างการรับรู้และเข้าใจถึงบทบาทและประโยชน์ เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ตที่กว่าจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันและมีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนในวงกว้างก็ต้องอาศัยเวลากว่า 20 ปี” นายสุวิชชากล่าวปิดท้าย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here