โรงพยาบาลพระรามเก้า ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคยากซับซ้อนและการดูแลสุขภาพก่อนป่วยมากว่า 31 ปี จับมือ บริษัท เนเวอร์ คลาวด์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (Naver Cloud Corp.,) ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ จัดงาน Digital Healthcare Transformation Conference Bangkok 2023 หรือ DHTC Bangkok 2023 ครั้งที่ 2 แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณสุขของประเทศไทยต่อไปในอนาคต ร่วมฉายภาพความคืบหน้าการริเริ่มการบริการทางการแพทย์ระยะไกลผ่าน Line Messenger ของไทยพลิกโฉมการบริการสู่ผู้นำศูนย์การแพทย์ดิจิทัลและบริการแพทย์ระยะไกลผสานเทคโนโลยี AI มาใช้ในการแพทย์ เตรียมการกางแผนเตรียมขยายความก้าวหน้าสู่ต่างประเทศ
นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการดูแลสุขภาพ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวช่วยวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสนับสนุนทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการดูแลรักษา การวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค การติดตามอาการของผู้ป่วยผ่าน Telemedicine ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการทางการแพทย์ เพิ่มความแม่นยำ ปลอดภัย และสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้เราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ความต้องการบริการเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น และโรงพยาบาลที่สามารถสร้างความร่วมมือแบบข้ามพรมแดนก็จะมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
โรงพยาบาลพระรามเก้า มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำโรงพยาบาลดิจิทัลและในด้านการบริการทางการแพทย์ระยะไกล เพราะบริการทางการแพทย์ระยะไกลมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในการให้การดูแลผู้คนในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม อีกทั้งประเทศไทย ถือเป็นศูนย์กลางการแพทย์สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี AI ของเกาหลี และไทย จะสามารถสร้างการแข่งขันในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง รวีรัตน์ สิชฌรังษี ที่ปรึกษาศูนย์โรงพยาบาลออนไลน์ โรงพยาบาลพระรามเก้า หรือ Praram9V อธิบายเพิ่มว่า “ด้วยประสบการณ์กว่า 31 ปีของโรงพยาบาลพระรามเก้าและความเชี่ยวชาญการการรักษาโรคยากซับซ้อน เราจึงได้รวบรวมองค์ความรู้อันเกิดจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผสานเข้ากับเทคโนโลยีทางการแพทย์ มาใช้เพื่อให้เกิดประประโยชน์อันสูงสุดแก่ผู้ป่วย อาทิ การบทบาทของ AI ในการรักษา เช่น การทำนายโรคจากข้อมูลทางพันธุกรรม หรือการใช้ AI ช่วยในการแปลงภาพทางการแพทย์ เป็นต้น ตลอดจนเพื่อย่นระยะเวลาในการวางแผนการรักษาโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่มีการนำโชว์ภายในงานประชุม มีสิ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง เทคโนโลยี AI ในการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ มะเร็ง ยีนส์ หรือใช้ AI ในการทำ Home Sleep Test หรือ Sense AI โดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล ช่วยลดค่าใช้จ่ายลดและลดระยะเวลาได้มาก ซึ่งอุปกรณ์ หรือ Device ต่าง ๆ ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้จัดหาให้ ทำให้มั่นใจในเรื่องของคุณภาพและความแม่นยำ
ทางด้าน นายแพทย์วิทยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวเสริมถึงแผนการพัฒนาองค์กรของโรงพยาบาลพระรามเก้าว่า “ทางโรงพยาบาลย้ำจุดแข็งในการเป็น “ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคยากซับซ้อน” ที่ให้บริการครอบคลุมทั้งโรคทั่วไป และโรคเฉพาะทาง โดยการเปิดศูนย์การแพทย์ใหม่ๆ ให้บริการด้านโรคเฉพาะทางแบบครบวงจร พร้อมกับปรับพื้นที่เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาการบริการให้กระชับและรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมเพิ่มช่องทางการรับรู้ระหว่างผู้บริโภคทั้ง Online และ Offline มากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันในตลาดที่กำลังดุเดือด
และอีกหนึ่งเป้าหมาย คือมุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่อย่างชาวต่างชาติ อาทิ ชาวอาหรับ กลุ่มประเทศ CLMV ที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น ด้วยการเปิดแผนก International Center และปรับปรุงพื้นที่โรงพยาบาล เพื่อขยายการการเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาจากเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้โรงพยาบาลพระรามเก้าเป็น One Stop Service ของชาวต่างชาติที่กำลังมองหาโรงพยาบาลดีๆ สักแห่ง และก้าวขึ้นเป็น Medical Hub ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคได้รับความไว้วางใจในระดับสากลต่อไป” นายแพทย์วิทยา กล่าว
สำหรับงาน Digital Healthcare Transformation Conference Bangkok 2023 หรือ DHTC Bangkok 2023 นี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20 – 21 ธันวาคม 2566 ซึ่งจัดครั้งที่ 2 โดยทางโรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นผู้นำ ในการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยร่วมกับ บริษัท เนเวอร์ คลาวด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Naver Cloud Corp.,) จากประเทศเกาหลีใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อน การพัฒนาศักยภาพด้านการแพทย์ และการบริการด้านสุขภาพ และเป็นการต่อยอดขยายขีดความสามารถให้มากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของสาธารณสุขของประเทศไทยต่อไปในอนาคต