พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2564 “Digital Government Awards 2021” แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในระดับสูง จำนวนทั้งสิ้น 33 รางวัล พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ณ สโมสรทหารบก วิภาวดี กรุงเทพฯ
ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล พร้อมแสดงความยินดีกับหน่วยงานที่ได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2564 ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปรับเปลี่ยนหน่วยงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยเฉพาะในสถานการณ์ของโลกในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็วโดยมีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นตัวเร่งให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่มาไวขึ้น การพัฒนาภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการนำพาประเทศไทยก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ไปสู่โลกอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ดังนี้
ด้านข้อมูล ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายโดยใช้ข้อมูลเป็นฐานสำคัญในการตัดสินใจ นำไปสู่การเป็น Data Driven Government โดยหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งจัดระเบียบข้อมูลตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้ข้อมูลแต่ละหน่วยงานเป็นข้อมูลที่ดี มีคุณภาพ มาตรฐาน และตรงความต้องการของผู้ใช้เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงผ่านแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่งผลให้ในอนาคตอันใกล้ประชาชนจะสามารถให้ข้อมูลกับภาครัฐเพียงครั้งเดียว (Once Only Principle) ก็เข้าถึงบริการดิจิทัลภาครัฐได้อย่างครบวงจร ด้านแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐจะต้องบูรณาการการทำงานไปในทิศทางเดียวกันด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลและกระบวนงานที่กระจัดกระจายจากหลายหน่วยงานเพื่อสร้างบริการและตอบสนองประชาชนในภาพเดียวกัน พร้อมเร่งยกระดับทักษะดิจิทัลบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมสำหรับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับผลการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐพร้อมทั้งข้อเสนอแนะที่ DGA ได้สำรวจนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม อันจะเป็นการยกระดับและขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลทั้งในระดับหน่วยงาน ตลอดจนระดับประเทศต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า “ต้องการเห็นประเทศไทยเป็น Digital Hub ในภูมิภาคอาเซียนและเป็น Hub ระบบ cloud โดยต้องการให้จัดเก็บข้อมูลเป็นดิจิทัล เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายรัฐ สามารถใช้งบประมาณอย่างประหยัด ได้ผลตรงตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันต้องเน้นความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรัฐบาลดิจิทัลให้ประชาชนอย่างต่อเนื่องว่ามีประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการให้บริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่วนภาคธุรกิจเองก็มีการค้าขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรถึงจะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนได้ใช้ประโยชน์การค้าขายออนไลน์ได้ด้วย
นอกจากนี้ต้องพยายามลดปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำในทุกช่วงวัย ต้องดูแลกลุ่มสตรี เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง ช่วยดูแลให้ชีวิตเขามีชีวิตที่ดีขึ้นตามสมควร ด้านหน่วยงานภาครัฐเองให้เน้นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Government) โดยต้องมีการจัดระเบียบตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล และที่ต้องเน้นย้ำคือ One stop service จะต้องทำให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมให้ได้ พร้อมให้ทุกหน่วยงานเร่งเดินหน้า Upskill/Reskill เพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐในทุกระดับให้พร้อมรับทุกสถานการณ์อย่างทันท่วงที
ส่วนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องให้ยึดหลัก Open by Default ต้องทำให้มีการพัฒนาชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ โดยคำนึงถึงเรื่องการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลให้ได้ และต้องเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐมารวมอยู่ในจุดเดียวกันที่ data.go.th เพราะต้องการเห็นว่าเกิดการใช้ประโยชน์ได้แท้จริงอย่างยั่งยืน”
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานถึงโครงการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐว่า DGA ได้ดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2558 โดยมุ่งหวังว่าผลสำรวจจะสะท้อนให้เห็นสถานะความพร้อมด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมถึงปัญหาอุปสรรค ความท้าทาย และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย สำหรับปี 2564 นี้ ได้ทำการสำรวจหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่า หน่วยงานภาครัฐระดับภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา) รวมทั้งสิ้น 1,922 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,852 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 96.36 จะเห็นได้ว่า หน่วยงานยังคงมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจอย่างดียิ่ง
ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า DGA เป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาล ทำหน้าที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล ผ่านโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th) มีชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ จำนวน 3,821 ชุดข้อมูลจาก 318 หน่วยงาน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา ‘แอปพลิเคชันทางรัฐ’ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนทุกช่วงวัยด้วยการรวบรวมบริการภาครัฐที่สำคัญกว่า 45 บริการไว้ในแอปฯ เดียว มีผู้ดาวน์โหลดกว่า 130,000 ครั้ง ส่วนงานที่ตอบสนองนโยบายด้านการเปิดประเทศ ได้พัฒนาระบบ Thailand Pass (tp.consular.go.th) เพื่อรับรองนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศแทนการออกเอกสาร Certificate of Entry (COE) ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนระบบ Thailand Pass จำนวน 322,601 คน ทางด้านธุรกิจมีเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลภาคธุรกิจ Biz Portal (bizportal.go.th)
ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจเข้าใช้บริการแล้วกว่า 1,400 ราย และมีปริมาณการยื่นคำขอแล้วกว่า 2,297 ครั้ง อีกทั้งยังมีศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารทะเบียนดิจิทัลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หรือ GDX Platform (gdx.dga.or.th) เพื่ออำนวยความสะดวกหน่วยงานรัฐเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้ ปัจจุบันมีหน่วยงานใช้บริการ จำนวน 194 หน่วยงาน นอกจากนี้ ได้จัดทำระบบกลางทางกฎหมาย เว็บไซต์ Law.go.th เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านกฎหมายของประเทศ และเป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นด้านกฎหมายของประชาชนด้วย ในส่วนของการยกระดับทักษะบุคลากรภาครัฐนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล (TDGA) (tdga.dga.or.th) มีผู้ผ่านการอบรมแล้วเป็นจำนวน 384,573 ราย
สำหรับรายละเอียดรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2564 (Digital Government Awards 2021) ประกอบด้วย
รางวัลรัฐบาลดิจิทัล แบ่งเป็น
– รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
– รางวัลรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลักที่มีคะแนนรวมสูงสุด 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า การไฟฟ้านครหลวง กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
– รางวัลรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย ประสานงาน กำกับดูแล หรืออื่นๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
– รางวัลระดับดิจิทัลระดับจังหวัด จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดพัทลุง จังหวัดระนอง จังหวัดลพบุรี และจังหวัดลำปาง
รางวัลเฉพาะด้านประจำปี จำนวน 10 รางวัล ประกอบด้วย
– รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
– รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th) จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมชลประทาน กรมธุรกิจพลังงาน กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
รางวัลพัฒนาการดีเด่น จำนวน 5 รางวัล ประกอบด้วย
– รางวัลพัฒนาการดีเด่นหน่วยงานระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชนกรมทางหลวงชนบท การประปานครหลวง การยางแห่งประเทศไทย
– รางวัลพัฒนาการดีเด่นหน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย ประสานงาน กำกับดูแล หรืออื่นๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
พิเศษสำหรับปีนี้ มีรางวัลท้องถิ่นดิจิทัล ภายใต้โครงการ “ท้องถิ่นดิจิทัล” มอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความสามารถในการดำเนินการบริหารงานและการให้บริการผ่านระบบดิจิทัล ที่มีการให้บริการจริง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู จ.แม่ฮ่องสอน เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี และเทศบาลนครยะลา จ.ยะลา สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ dgawards.dga.or.th