สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุน SMEs ใช้เทคโนโลยีเสริมศักยภาพธุรกิจ

นับตั้งแต่รัฐบาลพยายามเดินหน้าประเทศมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขันระดับประทศ ภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลกนั้น ทางสำนักงานส่งเสริมเศรฐกิจดิจิทัลเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงได้ดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Entrepreneur Total Digital Services) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้

นายชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

นายชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Entrepreneur Total Digital Services) มีวัตถุประสงค์สำคัญในการมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน SMEs และ OTOP สามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ ทั้งในภาคส่วนการค้าขาย (Digital Commerce) และการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการ (ERP for SMEs) โดยหนึ่งในพื้นที่ ที่ได้เข้าร่วมโครงการ คือ ศูนย์กระจายสินค้าชุมชนเทศบาลหนองป่าครั่ง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจุดเด่น คือ เป็นศูนย์รวมของผลิตภัณฑ์ในชุมชน มีบริการนวดแผนโบราณ ซึ่งเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากภายใต้การดำเนินงานโดยเทศบาล

ทั้งนี้รูปแบบในการดำเนินกิจกรรม คือ การอบรมวิทยากรอาสาจากบุคลากรในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด เพื่อให้ได้กลุ่มวิทยากรอาสามีความพร้อมในการช่วยเหลือ และสามารถถ่ายทอดความรู้รวมถึงเทคโนโลยีให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน SMEs และ OTOP ในพื้นที่ของตน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะทำหน้าที่ให้ความรู้และคอยช่วยเหลือผู้ประกอบการในชุมชนของตนเองเป็นระยะเวลา 6 – 8 เดือน เพื่อคอยเป็นผู้ช่วยในการอบรมการใช้ IT จนผู้ประกอบการในพื้นที่ของตนมีความแข็งแรง สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินโครงการมีความสมบูรณ์และประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพ เพราะการค้าขายออนไลน์ในปัจจุบันมีการแข่งขันทางการตลาดค่อนข้างสูง ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิทัลจึงสร้างเครื่องมือเพื่อผลักดันศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถขายของบนโลกออนไลน์ได้ โดยเครื่องมือประกอบด้วย ระบบ Channel Management System (CMS) ซึ่งเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้การอัพโหลดสินค้าของตนไปวางขายบน E -Market Place ต่าง ๆ ที่ได้มีการเชื่อมต่อกับระบบ CMS ไว้ ซึ่งระบบนี้ผู้ประกอบการสามารถกระจายสินค้าของตนไปยัง E-Marketplace ต่างที่เชื่อมต่อกับระบบ CMS เพียงการอัพโหลดแค่ครั้งเดียว อีกทั้งจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจการใช้งาน IT เพื่อการขายได้ง่ายขึ้น และลดความซ้ำซ้อนของการใช้ IT

ต่อมาคือ ระบบ THAILAND I Love U ซึ่งต่อยอดมาจาก Chiangmai I Love U เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ โดยการทำงานของระบบนี้ คือ เมื่อผู้ประกอบการต้องการทำให้สินค้าหรือสถานที่ของตนเองน่าสนใจ เพียงแค่ปักหมุดสถานที่บนแผนที่ดิจิทัล ก็จะเกิดการสร้างกลุ่ม Content ที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว โดยโครงการมีแผนที่จะปักหมุดสถานที่กว่า 50,000 จุด ใน 10 จังหวัดเป้าหมาย เช่น จังหวัดน่าน ลำปาง ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร และมีสถานที่สำคัญ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถานที่สำคัญอื่น ๆ โดยระบบ THAILAND I Love U จะช่วยให้นักท่องเที่ยวเลือกจัดทริปง่าย ๆ และค้นหาสถานที่ได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการท่องเที่ยวแบบ Backpacker หรือชอบการท่องเที่ยวแบบไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า

สุดท้ายสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้จัดทำเครื่องมือที่มีชื่อว่า Story telling ซึ่งเป็นการสร้าง Template Website ที่เชื่อมต่อกับระบบ THAILAND I Love U เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตน อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการมีความน่าสนใจ และดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดย Story telling ประกอบด้วย 4 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ การเล่าเรื่องสินค้าเชิงวิถีชุมชน การเล่าเรื่องสินค้าเชิงประวัติความเป็นมา การเล่าเรื่องสินค้าเชิงความยอดเยี่ยมของฟังก์ชันการทำงาน และการเล่าเรื่องสินค้าเชิงสาธิตวิธีการ

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวเราคาดว่าจะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการได้กว่า 4,000 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัด พร้อมจัดสรรวิทยากรอาสาจำนวน 400 รายที่ผ่านการอบรมจากทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในการถ่ายทอดความรู้ด้านการใช้ไอที เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไอทีมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการขยายตัวด้านการตลาดให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศโดยรวมในด้านการลงทุน กระบวนการผลิต และการให้บริการที่ได้มาตรฐานสากล

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here