สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ชูแผน Smart City เน้นพัฒนาเกษตร การท่องเที่ยวและแก้ปัญหาหมอกควัน

Smart City หรือ โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องการให้ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยให้เกิดการเชื่อมต่อ ปรับเปลี่ยน แก้ไข ระเบียบ ข้อบังคับอันเป็นการจำกัดโอกาสในการลงทุน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม การเรียนรู้เทคโนโลยี การให้คำปรึกษาธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยในปีที่ผ่านมาการดำเนินโครงการมีมาอย่างต่อเนื่องและหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการส่งเสริม Smart City คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษาและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เดิม ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงการ Smart City ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับนักลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ครอบคลุม 8 แผนงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และในโอกาสดังกล่าวยังได้เปิดศูนย์ Innovation Park ภายใต้โครงการ Phuket Smart City เพื่อให้เป็นสถานที่ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม ส่วนในปีนี้ได้มีการพัฒนาโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มีการมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำการเกษตรและการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ เกิดการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปยังชนบทให้มากขึ้น

ในการดำเนินโครงการ Chiang Mai Smart City โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะนี้อยู่ในช่วงการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์โครงการฯ ต่อทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนการทำ Innovation Park นั้นเรามีแนวคิดที่เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเทรนนิ่ง จนถึงขั้นสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ในการหาแหล่งทุน เพื่อการพัฒนาเราจะมีการช่วยจับคู่ธุรกิจ รวมไปถึงพาผู้ประกอบการไปหา Venture capital (VC) พร้อมทั้งยังเป็นศูนย์ที่รวบรวม Big data ของจังหวัดเชียงใหม่ไว้ด้วย โดยศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่บนพื้นที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ดี ในส่วนการดำเนินโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ก็จะแตกต่างออกไปจากจังหวัดอื่น โดยเชียงใหม่มีวิสัยทัศน์ที่ว่าทำอย่างไรให้ Digital Economy มีประโยชน์ต่อภาคประชาชน นักท่องเที่ยวหรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่จะเน้น 5 ยุทธศาสตร์ ตามแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้กินดีอยู่ดีมีสุข ซึ่งการกินดีที่ว่านั้น ต้องทำให้เป็น Smart Economy, Smart Tourism และ Smart Agriculture

ส่วนการอยู่ดี คือ Smart Living เมืองต้องน่าอยู่ปลอดภัย จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ต่อมาคือมีสุข Smart Environment นี่คือ สามยุทธศาสตร์หลัก และมีอีกสองยุทธศาสตร์เสริม คือ Smart Governance การนำข้อมูลบิ๊กดาต้าจากภาครัฐ มาใช้บนแพลทฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ๆ และเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ และสุดท้าย คือ Smart Education การพัฒนาทางด้านการศึกษา การได้รับความรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ

นายฉัตรชัย กล่าวว่า แม้จะมีการวางยุทธศาสตร์ไว้เช่นนี้ แต่เชียงใหม่ยังมีประเด็นในเรื่องของงบประมาณที่ต่างออกไปจากจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนร่วม ดังนั้นการดำเนินโครงการของเชียงใหม่จึงเน้นเรื่องที่ส่งผลกระทบในพื้นที่เป็นลำดับแรกก่อน คือ การพัฒนา Smart Tourism, Smart Environment และ Smart Agriculture โดยในส่วนของ Smart Tourism นั้น ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาแพลทฟอร์มที่มีชื่อว่า Chiang Mai
I Love U เป็นแพลทฟอร์มที่จะช่วยนักท่องเที่ยวในการค้นหาเส้นทางท่องเที่ยงด้วยตนเอง โดยตัวแพลทฟอร์มนี้ ก็จะบอกเส้นทาง วิธีการเดินทาง รวมไปถึงการแนะนำร้านค้า โรงแรม สถานที่สำคัญที่น่าสนใจต่าง ๆ ผ่านการปักหมุดจากผู้ประกอบการในพื้นที่ ตรงนี้เองมีแนวคิดริเริ่มมาจากเวลาคนส่วนใหญ่ไปเที่ยวไหน

สิ่งแรกที่ทำคือ การหาค้นมูลจาก pantip.com หรือเว็บท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่แพลทฟอร์มนี้คือ การนำกระทู้หรือคำแนะนำเหล่านั้นมาใส่ไว้ที่นี่ และนอกจากนี้ในการเปิดตัวแพลทฟอร์มดังกล่าวได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงมีการขยายโครงการออกไปเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่อีก 10 จังหวัด เช่น น่าน ลำปาง นครราชสีมา ขอนแก่น สกลนคร ภูเก็ต สระบุรี และแม่ฮ่องสอน พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Thailand I love U หากการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เส้นทางเหล่านี้ก็จะมีการเชื่อมกันระหว่างจังหวัด

การพัฒนา Smart Agriculture เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับทำนายการเพาะปลูกและการเกษตร หรือที่เรียกว่า Smart farming การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตรจะเริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยโดยจะรู้ได้ทันทีว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมจะปลูกอะไร สภาพตรงนี้เป็นเช่นไร จากนั้นการทำเกษตรก็จะมีการคำนวณสภาพดิน น้ำ การให้อาหาร สภาพอากาศ การควบคุมโรค ดังที่ว่า Farm to fork คือจะกินอะไรเราก็จะรู้ได้ทันทีอาหารนั้นมีที่มาอย่างไร เนื้อสัตว์เหล่านั้นเลี้ยงด้วยอะไร มีสารพิษหรือไม่ อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการเกษตรยังมีข้อดี ในเรื่องของการคำนวณผลผลิตที่จะออกมาได้ ทำให้ราคาผลผลิตไม่ต้องตกลงเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนเรื่องต่อมา คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน โดยที่ผ่านมาปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นจากการเกิดไฟไหม้ป่า และเราไม่รู้ว่ามีไฟไหม้เกิดขึ้นจนกว่าจะไหม้มาจนถึงบริเวณที่มองเห็นชัดเจน หรือไหม้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้เราเตรียมความพร้อมรับมือได้ทัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาเชียงใหม่มีระบบเซนเซอร์ฝุ่นละอองเยอะมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ไม่รู้ว่าค่าเหล่านั้นเกินมาตรฐานคือเท่าไหร่ เพื่อจะได้รีบแก้ไข และหาสาเหตุได้ทันเพื่อจะได้ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี Smart City จะสำเร็จไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากภาคเอกชน ดังนั้น ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ Onn IT Valley จัดทำคอมมูนิตี้ขึ้น เพื่อสร้างสรรค์
แนวทางการดำเนินธุรกิจร่วมกัน ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างศักยภาพด้านการแข่งขันให้ SMEs Startup และเกษตรกรให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน และต้องการสถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีด้านไอที เพื่อให้เกิดการจ้างงานสร้างโอกาส สร้างสังคมตามแนวคิด “ร่วมแรงและแบ่งปัน”

ไม่เพียงเท่านี้ยังได้รับความร่วมมือในเรื่องสถานที่จากห้างสรรพสินค้า พรอมเมนาดา รีสอร์ทมอลล์ ในการจัดตั้ง ศูนย์บริการ One Stop Service เพื่อให้เป็นสถานที่ ในการรองรับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ และ SMEs ในพื้นที่ให้สามารถใช้บริการทางด้านดิจิทัลอย่างครบวงจร เช่น คลินิกซอฟต์แวร์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูล ห้อง Show Case Software รวมไปถึงการให้บริการ Co-working Space รองรับได้ถึง 60 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีระบบกล้อง Full dome 360 องศา สำหรับเป็นที่แสดง Animation 3D, Game, e-Learning, VR เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางด้าน Digital Content ได้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยใช้

“แม้การดำเนินโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืน แต่ถึงกระนั้นเชียงใหม่ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายไม่ต่างจากจังหวัดภูเก็ต และอาจจะรวมไปถึงปัญหาเรื่องการดำเนินวิถีชีวิต และการมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แต่ถึงอย่างนั้นเชื่อว่าหากมีการจัดการที่ดีในการพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็น Smart City แต่คงไว้ด้วยเอกลักษณ์เดิมจะทำให้คนในพื้นที่ยอมรับ และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบต่อไป” นายฉัตรชัย กล่าว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here